สำนักงานขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ ร่วมกับ สถาบันสันติศึกษา มอ. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง ” กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ สำหรับคณะ คพท. รุ่นที่ 2

225

        เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 เวลา 16.30 น. ที่ห้องประชุมโรงแรมเฟรนด์ลี่เทล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า    เป็นประธานเปิด การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง ” กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) สำหรับคณะขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ (คพท.) รุ่นที่ 2 “ เสริมสร้างองค์ความรู้การเป็นผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ และเพื่อพัฒนาศักยภาพ ของคณะขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ให้สามารถเป็นผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการจัดการการศึกษาหรือสาธารณะ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปออกแบบเวทีสาธารณะตามบริบทของพื้นที่ต่างๆในพื้นที่ต่อไป เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุย ซึ่งจะช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดี  โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ร่วมกับสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดการฝึกอบรมฯ ระหว่างวันที่ 3 – 5 มีนาคม 2567 มีผู้เข้าร่วมจำนวน 68 คน จากจังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส

          โอกาสนี้ พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่าการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ นี้ ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงานเกี่ยวกับกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะที่เป็นภารกิจสำคัญยิ่งของพวกเราในการปฏิบัติงานสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่วมกันขับเคลื่อนงานการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะต้องดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่อง

          สำหรับผลการพูดคุยล่าสุดเมื่อวันที่ 6 – 7 ก.พ.2567 ที่ผ่านมาคณะพูดคุยสันติสุขฯทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงที่มุ่งมั่นในการดำเนินการเพื่อให้เอกสาร JCPP เสร็จสมบูรณ์โดยเร็วโดยจะมีการหารือมาตรการดังกล่าวร่วมกันในรายละเอียดโดยคณะทำงานฝ่ายเทคนิคของสองฝ่ายในห้วงเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2567 ซึ่งจะเป็นหนทางนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงสันติสุขเพื่อประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยภายใต้การอำนวยการของผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียและน่าจะเริ่มทดลองการปฏิบัติตามข้อตกลงในห้วงเดือนรอมฎอนที่จะถึงคือห้วงเดือน มีนาคม – เมษายน ที่จะถึงนี้

          ทั้งนี้รัฐบาลไทย และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีความคาดหวังต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข เพราะนั่นคือเครื่องมืออย่างหนึ่งที่รัฐบาลได้นำมาปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาและเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับเป็นความหวังของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ว่าเป็นวิธีการที่ดีเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้ง และจะสามารถนำพาจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับคืนสู่สันติสุขได้ แต่จุดหมายปลายทางของสันติสุขจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจร่วมคิดจากทุกส่วนรวมถึงประชาชนในพื้นที่

          สำหรับคณะขับเคลื่อนการพูดคุยระดับพื้นที่ได้รวบรวมผู้มีความรู้ความสามารถในทุกภาคส่วนมาเป็นคณะทำงาน ทั้ง 9 กลุ่มงานซึ่งในแต่ละกลุ่มงานก็มีบทบาทที่แตกต่างกันออกไป โดยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขได้ถูกนำมาบรรจุในนโยบายระดับชาติ ทั้ง 3 ฉบับตั้งแต่ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) ,นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2562 – 2565,และนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2562 – 2565ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า “รัฐต้องยึดมั่นแนวทางสันติวิธีและส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งในส่วนของกองอำนวยการรักษาภายในภาค 4 ส่วนหน้าได้มีการเตรียมความพร้อมในการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง โดยการส่งเสริมกระบวนการพูดคุยระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนได้เสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้,ส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเสริมสร้างความเข้าใจ และสร้างความพร้อมของทุกภาคส่วนในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขภายใต้ยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วม โดยมีคณะขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ (คพท.) เป็นโซ่ข้อกลางประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูลและหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุผลสำเร็จในการพูดคุยสันติสุขฯ

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า