พิธีเปิด โครงการสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มุ่งหวังให้เจ้าหน้าที่นำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

406

          วันนี้ ( 22 มกราคม 2567 ) เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมบีพี สมิหลา บีช โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา พันเอก เฉลิมชัย สุทธินวล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ประจำปีงบประมาน 2567 ให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อสร้างมีความรู้ความเข้าใจเนื้อหา ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 นำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และขยายผลให้การปฎิบัติของหน่วยงานในภาพรวมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย อีกทั้งได้เปิดโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันในการปฏิบัติงานที่ผ่านมา เพื่อให้การดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ในโครงสร้างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จำนวน 150 นาย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 มกราคม 2567

          พันเอก เฉลิมชัย สุทธินวล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยที่รับผิดชอบในการบูรณาการป้องกัน การแก้ไขปัญหา และการเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งคือ การรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน และการยุติเหตุรุนแรง ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญต่อการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายมีผลกระทบต่อเสรีภาพของผู้ถูกตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัว ซึ่งอาจจะเป็นเงื่อนไขให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ 2565 ได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคง ซึ่งมีอำนาจในการตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัว ตามกฎหมายความมั่นคงทั้ง 3 ฉบับ ที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบัญญัติ และแนวทางการปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

          อย่างไรก็ตามตลอดเวลาที่ผ่านมาที่ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติของทางเจ้าหน้าที่ โดยได้ให้ความสำคัญในเรื่องของงานการบังคับใช้กฎหมายโดยตลอด เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดและคืนสันติสุขสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า