วันนี้ (4 มกราคม 2567) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมปัตตานีภิรมย์ อาคารสำนักงานวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะฯ ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หารือการขับเคลื่อนงานด้านการพูดคุยเพื่อสันติสุข ระหว่างวันที่ 3-6 มกราคม 2567 พร้อมด้วย พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, พลตรี วรเดช เดชรักษา รองแม่ทัพภาคที่ 4 , ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะทำงานฯ ได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ คณะสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี และคณะทำงาน สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ตลอดจน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวของ และสื่อมวลชนเข้าร่วม
โดยที่ประชุมได้รายงานสรุปสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นกว่า 20 ปี พร้อมทั้งนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเครือข่ายวิชาการ Peace Survey 25 องค์กร เป็นการสำรวจความเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งภาพรวมของการสำรวจคือสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโดยประชาชนมีความเห็นว่า สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ รวมถึงเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
จากนั้น เวลา 13.30 น. คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกับคณะทำงานพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนในพื้นที่ (Insider Peacebuilding Platform -IPP) ณ ห้องศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยที่ประชุมได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านของการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยโดยเร็ว
ทั้งนี้ นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้ทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่องและนำบทเรียนที่ผ่านมาแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดซ้ำในอนาคต ซึ่งการพูดคุยเพื่อสันติสุขมีความจริงจัง จริงใจ ตั้งใจให้เกิดความสำเร็จให้เกิดรูปธรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สานต่อสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ต่อเนื่องที่ทุกฝ่ายได้ทำมาโดยมีระบบ มีระเบียบ มีการสานต่อแผนที่มีการยอมรับและให้ความสำคัญทั้งรัฐไทยและผู้เห็นต่าง โดยข้อมูลการวิจัยในครั้งนี้ เป็นประโยชน์อาจจะมีข้อมูลใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งเป้าหมายและความคาดหวังคือคืนความเป็นปกติในพื้นที่ภายในปี 2567 ซึ่งต้องเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน หลังจากนี้กระบวนการที่ต้องทำตามแผนใน ปี 2567-2568 ต้องอาศัยทุกภาคส่วนมาช่วยกัน ภายใต้ในแผนคือ การลดความรุนแรงสร้างบรรยากาศการพูดคุยสันติสุข และการมีส่วนร่วมของของทุกภาคส่วน รวมถึงแสวงหาทางออกทางการเมือง ด้วยกระบวนการต้องมีความต่อเนื่อง และนำแผนไปปฏิบัติจริง รวมถึงติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทางคณะฯ พร้อมที่จะรับฟังทุกภาคส่วนเป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อคืนความสันติสุขโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเดินหน้าขับเคลื่อนการพูดคุยฯ รวมทั้งประสานงาน และแสวงหาความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บนพื้นฐานของความจริงใจ สมัครใจ และให้เกียรติ เพื่อให้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการแก้ไขจนเกิดความสงบ และสันติสุขอย่างยั่งยืน ประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยทั้งในชีวิต และทรัพย์สิน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า