วันนี้ (6 กันยายน 2566) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุม 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลตรี เฉลิมพงค์ คงบัว เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ให้การต้อนรับ พลโท ธัชพล เปี่ยมวุฒิ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร / ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้แทนจากสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, สำนักอำนวยการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, ศูนย์ประสานความมั่นคง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, หน่วยเฉพาะกิจ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา) เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อติดตามการปฏิบัติงานและประสานการปฏิบัติของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า
โดย พันเอก เฉลิมชัย สุทธินวล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีกลุ่มผู้ก่อเหตุสร้างสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและประชาชน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษ เพื่อการบริหารราชการ การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัย และการรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ภายใต้กรอบพระราชบัญญัติ กฎอัยการศึกพุทธศักราช 2457 เป็นกฎหมายความมั่นคงฉบับหนึ่งที่รัฐบาลใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ หวังสร้างพื้นที่ปลอดเหตุ ประชาชนปลอดภัย นำความสุขกลับคืนแก่พี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้าน พลโท ธัชพล เปี่ยมวุฒิ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร / ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำชับให้สำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า บูรณาการทำงานและปรับปรุงหลักสูตรการสร้างความรู้และความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน การบังคับใช้กฎหมายให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงและผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเน้นการเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งจัดอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ที่มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เสริมการปฏิบัติภารกิจและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกคน
อย่างไรก็ตาม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โดยสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนได้ศึกษากฎหมายและแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายความมั่นคง และนำหลักสิทธิมนุษยชนปรับใช้กับการปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ อันจะนำไปสู่การลดปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่และการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ซึ่งส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า