เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 แผนกส่งเสริมสุขภาพ และเวชกรรมป้องกัน โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ลงพื้นที่รณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้เลือดออก เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก พร้อมแจกทรายอะเบท แนะนำวิธีการใช้ ให้กับครอบครัวกำลังพลร้านค้า ภายในหน่วยงานราชการ และชุมชนบ้านพักค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
สำหรับการกำจัดลูกน้ำด้วยมาตรการ 5 ป. 1 ข. คือ ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับ ปฏิบัติ และขัดล้างไข่ยุงทุกสัปดาห์ ได้แก่ ปิด ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่, เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง, ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร, ปรับ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย, ปฏิบัติ ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย และลงมือทำทันที และมาตรการ 1 ข. คือ การขัดล้างภาชนะก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกสัปดาห์เพื่อกำจัดไข่ยุงที่เกาะอยู่ภายในภาชนะ ทั้งนี้ ยุงลายตัวเมีย 1 ตัวหลังผสมพันธุ์จะตั้งท้องและวางไข่ได้ตลอดชีวิตครั้งละประมาณ 100 ฟองมีชีวิตอยู่ประมาณ 1 เดือนไข่ยุงทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้นานหลายเดือนเมื่อไข่ถูกน้ำท่วมถึงจะฟักตัวกลายเป็นลูกน้ำอย่างรวดเร็วภายในเวลา 20 – 60 นาที นอกจากนี้หากมีอาการหน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก และมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ไกล้บ้านทันที
กรมแพทย์ทหารบก โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า