วันนี้ (16 สิงหาคม 2566) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นประธานประชุมเพื่อหารือแนวทางการดำเนินการตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ( กสม.) กับกองในการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โดยมี นางสาววรตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นาย ดนัย มุสา ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิมนุษยชนศึกษา, ฝ่ายเลขานุการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้, ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ,ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า,ผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าและหัวหน้างานซักถาม กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสม ในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดย รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อหารือแนวทางการทำความร่วมมือร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนพื้นที่พักใต้ได้จัดทำรายงานการประชุมเพื่อหารือแนวทางการทำความร่วมมือร่วมกัน ของการประชุมที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มติในที่ประชุมเห็นชอบให้มีการบูรณาการร่วมกันในการปรับปรุงหลักสูตรการสร้างความรู้และความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน การบังคับใช้กฎหมายให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงและผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อร่วมกันเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนยันสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณและมีสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการร่วมกัน พร้อม ย้ำว่ากิจกรรมโครงการในปี 2567 ภายใต้งบบูรณาการมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 และมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งครอบคลุมฐานความผิดสำคัญ 3 ฐาน ได้แก่ การกระทำทรมาน การกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมถึงบทกำหนดโทษ มาตรการดำเนินคดี มาตรการป้องกัน มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดดังกล่าว ยืนยัน พระราชบัญญัติฯ ยังกำหนดให้มีกลไกคณะกรรมการซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม แพทย์ ทนายความ และสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมกำกับดูแลการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติฯ พร้อมย้ำว่า การร้องเรียนส่วนใหญ่มุ่งไปทางคดี และหากผู้ร้องถูกควบคุมตัวและมีทนาย หรือผู้ร้องที่บางส่วนไม่มีทนายความ แต่ผู้ร้องเรียนเป็นญาติซึ่งเกิดความกังวลและเป็นห่วงบุตรหลานเนื่องจากไม่มีการสร้างความเข้าใจ และเมื่อได้รับคำอธิบายจากหน่วยงานที่ควบคุมตัว ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่รับฟังและตรวจสอบการใช้สิทธิว่าถูกต้องหรือไม่ และ การร้องเรียนไม่ใช่จะมุ่งไปทางคดีทั้งหมด
โอกาสนี้ รองแม่ทัพภาคที่ 4/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ย้ำว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานความมั่นคง มีหน้าที่รักษาความมั่นคงและแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นหน่วยงานภายใต้การบังคับใช้กฎหมายเพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะพื้นที่รับผิดชอบมักมีประเด็นที่ล่อแหลมเกี่ยวกับงานด้านสิทธิมนุษยชน ยืนยันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้กำหนดมาตรการในการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้กฎหมายในการเข้าดำเนินการต่อกลุ่มผู้เห็นต่างอย่างเคร่งครัด ล่าสุดวันนี้ (16 สิงหาคม 2566) เจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้เข้าบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง ที่เจ้าหน้าที่พยายามดำเนินการอย่างระมัดระวังอย่างสุดกำลังความสามารถ แต่สิ่งที่ไม่คาดคิด คือ ผู้ก่อเหตุเลือกใช้วิธีการต่อสู้ด้วยความรุนแรง จนก่อให้เกิดความสูญเสียขึ้น ขณะนี้ญาติของผู้เสียชีวิตทั้งสองรายได้ติดต่อรับศพไปประกอบพิธีทางศาสนาเรียบร้อยแล้ว พร้อมย้ำว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ปฏิบัติงานภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานสำคัญ อีกทั้งในปีนี้ได้นำพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เสริมการปฏิบัติภารกิจและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกคน ยืนยันกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมให้การสนับสนุนการประสานงานร่วมกัน เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และนำข้อมูลที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สร้างความสงบสุขร่มเย็นกลับคืนสู่พี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โดยสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนได้ศึกษากฎหมายและแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายความมั่นคง และการนำหลักสิทธิมนุษยชนไปปรับใช้กับการปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ อันจะนำไปสู่การลดปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่และการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ซึ่งส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า