วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 เวลา 09:00 น. ณ หอประชุม ม.อ. ชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ สำนักงานอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ.ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับจังหวัดปัตตานี โดย นาง พาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และ 10 ภาคีจังหวัดปัตตานี ประกอบด้วย นายอำเภอหนองจิก นายอำเภอเมืองปัตตานี นายอำเภอยะหริ่ง นายอำเภอปะนาเระ นายอำเภอสายบุรี นายอำเภอไม้แก่น ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดปัตตานี การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี เกษตรจังหวัดปัตตานี พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปัตตานี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดปัตตานี ในโครงการการพัฒนาและยกระดับการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคมเพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูล กลไกบูรณาการการทำงานและพัฒนาระบบปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (โมเดลแก้จน) เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 6 อำเภอชายฝั่งทะเลจังหวัดปัตตานี ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอหนองจิก อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรีและอำเภอไม้แก่น
นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนาและยกระดับการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคมจังหวัดปัตตานี ในครั้งนี้ นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมและความมุ่งมั่นตั้งใจที่ทั้งจังหวัดปัตตานีและ ม.อ.ปัตตานี จะเดินหน้าไปด้วยกัน โดยใช้องค์ความรู้ใช้ข้อมูลที่แม่นยำ ใช้กลไกของจังหวัด เพื่อร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีพื้นที่นำร่องเชิงยุทธศาสตร์ 6 อำเภอชายฝั่งทะเลและจะขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดปัตตานีในระยะต่อไป ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งของจังหวัดปัตตานี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาจังหวัดในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติสุขภาพ การศึกษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากร การเข้าถึงสวัสดิการ และแม้กระทั่งการอยู่ร่วมกันในสังคม จึงจำเป็นจะต้องบูรณาการและประสานงานกันทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาควิชาการ จากผลงานที่ปรากฏในพื้นที่และจากการร่วมประชุมพูดคุยกับคณะนักวิจัยและผู้อำนวยการ บพท. เห็นว่าครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยมาร่วมลงมือทำ มาร่วมหนุนเสริมกลไกการทำงานของจังหวัด โดยใช้ฐานข้อมูลเดียวกันในการชี้เป้าครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คือ ฐานข้อมูล TPMAP ที่เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาแบบพุ่งเป้าเป็นรายครัวเรือน ช่วยเหลือและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับศักยภาพคนจนและบริบทครัวเรือนเป้าหมาย ที่ผ่านมาการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนได้มีการดำเนินการโครงการมาแล้วมากมาย แต่ยังไม่สามารถขจัดปัญหาความยากจนออกไปได้ จากสาเหตุหลายปัจจัย เช่น ข้อมูลไม่ถูกต้อง เข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย ช่วยเหลือไม่ตรงกับความต้องการหรือศักยภาพครัวเรือนยากจน ดังนั้น การดำเนินการร่วมกันในครั้งนี้ คิดว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อให้ระบุกลุ่มเป้าหมายให้มีความชัดเจน ลงมือช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เจอบทเรียนอะไรก็มาวิเคราะห์ร่วมกัน บางส่วนอาจดึงเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการตามภารกิจปกติของหน่วยงาน ส่วนกลุ่มที่ด้อยโอกาสก็จะดำเนินการให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปัตตานีดำเนินการสงเคราะห์ช่วยเหลือต่อไป
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า