เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย พลโท อุทิศ อนันตนานนท์ แม่ทัพน้อยภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า , พลตรี ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า , พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมี นาย พงศธร ธรรมชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 9 , แพทย์หญิง นริศรา งามขจรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี , รองผู้ว่าราชการ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา , ปัตตานี , ยะลา , นราธิวาส) ตลอดจนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า เป็นครั้งที่สองที่ได้มีการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องแรกที่ให้ความสนใจเป็นอย่างมากตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง ทั้งในเรื่องของการบำบัดและการปราบปรามยาเสพติด จะเห็นได้ว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติ เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ จึงเป็นปัญหาที่พวกเราต้องช่วยกันแก้ วันนี้ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความทุ่มเทในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน การแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายต้องปฏิบัติงานร่วมกันต้องมีการประสานงานกันอย่างเต็มระบบ ในการปฏิบัติงานห้วง 6 เดือนต่อไปนี้ จะมีการต้านยาเสพติดทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การปราบปรามยาเสพติด , การป้องกันและแก้ไขปัญหา , การบำบัดยาเสพติด และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ผ่านการบำบัดรักษา ที่ผ่านมา 6 เดือนแรกเราทำกันอยู่แล้ว แต่หลังจากนี้จะต้องช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติ และมีการติดตามผลการทำงานเพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในส่วนของการขับเคลื่อนโครงการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx) นั้น ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดภายในชุมชน โดยการขยายจากตำบลนำร่องให้ครอบคลุมทุกตำบลทั้งอำเภอ และให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแล สำหรับการส่งตัวผู้ป่วยยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา ขอให้ทางสาธารณสุขทำการชี้แจงกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันด้วย”
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า