กอ.รมน.ภาค 4 สน. จัดอบรมพัฒนาขีดความสามารถเจ้าหน้าที่ในเครือข่ายด้านความมั่นคง ประจำปีงบประมาณ 2566 (รุ่นที่ 2) สร้างความตระหนักรู้ในสื่อโซเชียลมีเดีย อันนำไปสู่การสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

254

วันนี้ (17 พฤษภาคม 2566) เวลา 11.30 น. ณ โรงแรมบีพีสมิหลาบีช ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4/ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมพัฒนาขีดความสามารถเจ้าหน้าที่ในเครือข่ายด้านความมั่นคง ประจำปีงบประมาณ 2566 (รุ่นที่ 2) จัดขึ้นโดยสำนักสารสนเทศ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2566 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสื่อโซเชี่ยลมีเดียอันนำไปสู่การสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี เจ้าหน้าที่เครือข่ายด้านความมั่นคง ตลอดจนโฆษกชาวบ้านในพื้นที่ เข้ารับการฝึกอบรม

          พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4/ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า “กิจกรรมในวันนี้เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการปูพื้นฐานให้นำไปสู่การเสริมสร้างความเข้าใจ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปในอนาคต จากที่เห็นว่าสถานการณ์โลกมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเรื่องของการสื่อสารอย่างไร้พรมแดน ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสภาวะแวดล้อม ส่งผลให้เกิดภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ในหลายเรื่อง รวมไปถึงการแบ่งแยกทางความคิด ของคนในสังคม สถานการณ์ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่เคยมีในยุคไหน ที่คนไทยด้วยกันเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน จะมีการแบ่งแยกทางความคิดอย่างรุนแรงแบบนี้มาก่อน ซึ่งก็เป็นอิทธิพลมาจากการสื่อสารไร้พรมแดนถือว่าเป็นภัยคุกคาม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีความขัดแย้ง แต่ประเทศไทยก็ถือว่าได้รับการยอมรับในวิธีการดูแลจัดการ ส่วนในเรื่องของปัญหายาเสพติดนับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ยาเสพติดได้มีการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นเดียวกันสังเกตได้จากการจับกุมคดียาเสพติดในแต่ละครั้งที่จับได้ของกลางในปริมาณมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 19 ปี ซึ่งนอกจากจะเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ของพี่น้องประชาชนแล้วยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ประเด็นที่หยิบยกมาทั้งหมดนี้ก็อยากจะบอกกับทุกคนว่าพวกเราเป็นเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง โดยเฉพาะโฆษกชาวบ้าน ถือว่าเป็นประชาชนจิตอาสา ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มในการสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของพวกเราเอง ที่ผ่านมาได้เห็นการทำงานของโฆษกชาวบ้านรู้สึกประทับ และชื่นชมในความเสียสละ ความมีจิตอาสาของพวกเรา อยากให้ทุกคนทั้งผู้ฝึกอบรม และผู้เข้าร่วมอบรมได้ถ่ายทอดและเก็บประสบการณ์ในการอบรม ไปประยุกต์ใช้เพื่อให้รับทราบและรู้เท่าทันการเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการใช้สื่อโซเชียลและสื่อบุคคลต่อไป”

          สำหรับการฝึกอบรมพัฒนาขีดความสามารถเจ้าหน้าที่ในเครือข่ายด้านความมั่นคง ประจำปี 2566 รุ่นที่ 2 มีผู้เข้ารับการอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการสร้างความตระหนักรู้ของหน่วย จำนวน 110 คน และโฆษกชาวบ้านจำนวน 60 คน ในฝึกอบรม โดยมีวิทยากรบรรยายความรู้พื้นฐานและแนวทางการสร้างความตระหนักรู้ในปี 2566 , การเขียนบทความ, การผลิตสื่อ, การทำแผนการสร้างความตระหนักรู้ และการนำไปใช้ปฏิบัติงานจริงให้เกิดประสิทธิภาพอีกด้วย

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า