วันนี้ (15 พฤษภาคม 2566) เวลา 13.30 น. ณ ห้องรวงผึ้ง อาคาร 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ให้การต้อนรับผู้แทนเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ที่เดินทางเข้าพบเพื่อยื่นเอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในประเด็นที่ประชาชนในพื้นที่มีความกังวล โดยได้ทำการรวบรวมจากการเสวนา การลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างแท้จริง
พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า “กว่า 19 ปีที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น ต้องยอมรับว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นอย่างมากก็คือชาวไทยพุทธ จากความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินในช่วงแรกมาเป็นเรื่องผลกระทบด้านความรู้สึกในปัจจุบัน สิ่งที่พี่น้องชาวพุทธมีความต้องการ ที่ได้มีการเสนอผ่านเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพก็คือเรื่องของความมั่นใจในความปลอดภัย ถือว่าเป็นภารกิจที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ให้ความสำคัญ ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งชุดคุ้มครองตำบลที่มีการทำงานร่วมกันกับชุดคุ้มครองหมู่บ้านและกำลังที่อยู่ประจำถิ่นก็คือหน่วยเฉพาะกิจประจำพื้นที่อยู่แล้ว ก็ยังคงเป็นนโยบายที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าได้ให้ความสำคัญ ส่วนที่สองคือในเรื่องของการดูแลความเป็นธรรมในความรู้สึกถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและค่อนข้างมีข้อจำกัด เนื่องจากว่าในการเยียวยา ไม่มีกรอบงบประมาณที่เป็นหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ร่วมกับทางภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชน ในการเยียวยาความรู้สึกของพี่น้องชาวพุทธมาโดยลำดับ ตัวอย่างเช่น พี่น้องชาวพุทธบ้านนำบ่ออำเภอปะนาเระที่ได้ละทิ้งถิ่นฐานไปอยู่นอกพื้นที่หลายครัวเรือน ก็ได้รับเงินอุดหนุนจากภาคส่วนต่างๆมาร่วมกันสร้างบ้าน และจัดทำโครงการไทยพุทธคืนถิ่น ทำให้ประชาชนเดินทางกลับคืนสู่บ้านหลายครัวเรือน ในเรื่องของการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก่อนหน้านี้มีการแก้ปัญหาในระยะสั้นโดยการใช้โครงการสร้างงานเร่งด่วน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน งบประมาณได้ถูกปรับลดลงไปทุกปี โครงการจ้างงานก็ถูกปรับลดเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นในอนาคตภายภาคหน้า กลุ่มเปาะบางเหล่านี้ก็ต้องได้รับการดูแลในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งวันนี้ทางเครือข่าย พี่น้องชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการยื่นข้อเสนอทั้งหมดเป็นเอกสาร ซึ่งจะได้มีการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาร่วมกันดูว่าสิ่งใดบ้างที่เราสามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้ตามกรอบอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รวมทั้งในส่วนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากเกินขีดความสามารถก็จะผลักดันขึ้นสู่ระดับนโยบายต่อไป พี่น้องประชาชนทุกเชื้อชาติทุกศาสนา ถือว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าต้องให้ความสำคัญและดูแล โดยเฉพาะพี่น้องกลุ่มชาวไทยพุทธ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง และปัจจุบันถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการดูแลในเรื่องของความรู้สึกจะต้องให้มั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกทอดทิ้ง ฝากไปยังพี่น้องชาวพุทธทุกคน ขอให้มั่นใจว่าทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และทุกภาคส่วนเราพร้อมที่จะดูแลพี่น้องประชาชน ทุกเชื้อชาติทุกศาสนาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างเด็ดขาด”
นอกจากนี้ พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นคำถาม “ทหารมีไว้ทำไม” ว่า “ตลอด 19 ปีที่ผ่านมาที่เราส่งกำลัง เข้ามาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราไม่ได้ส่งกำลังเพื่อมาสู้รบปรบมือกับใคร กำลังเจ้าหน้าที่ทุกนายที่ลงมาเพื่อจะมาดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชน เราต้องการที่จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการคุ้มครองความปลอดภัย ปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นเราต้องถามคนส่วนใหญ่ว่า ตลอด 19 ปีที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำอะไรไปบ้าง นอกจากภารกิจในการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว เรายังมีภารกิจในเรื่องของการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในโอกาสต่างๆ ทั้งอุทกภัย วาตภัย ภัยแล้ง และอีกหลายๆ ภัยพิบัติ และยังปฏิบัติภารกิจมีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ถึงแม้ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงแต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาในเรื่องของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในหลายๆ โครงการ นี่คือคำตอบที่คิดว่า “ทหารมีไว้ทำไม”
ด้าน นางสาวกันตพัฒน์ ทวีผลทรัพย์ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กล่าวว่า “เราได้มีการจัดทำโครงการเปิดรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ลงพื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และความกังวลจากคนในพื้นที่ และนำมาส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับประเด็นที่หลายคนกังวลมากที่สุด คือ เรื่องความปลอดภัย หากมีการนำกำลังทหารออกจากพื้นที่ คนในพื้นที่จะกังวลกันอย่างมาก เพราะตลอด 19 ปีที่ผ่านมา ที่มีกำลังทหารคอยดูแลในชุมชน ทำให้ประชาชนมีความอุ่นใจทั้งในการเดินทางและการประกอบอาชีพ ทุกครั้งที่เห็นทหารเดินลาดตระเวนก็รู้สึกเห็นใจ และขอให้ทุกคนปลอดภัยตลอดการทำงาน”
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า