รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานประชุมชี้แจงความคืบหน้าของคณะทำงานบูรณาการและขับเคลื่อนงานสังคมพหุวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ.2566 นำร่อง 4 สถานศึกษาต้นแบบของ จ.ปัตตานี

254

          วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 10.30 น. ที่โรงเรียนชุมชนบ้านปาตา ตำบลตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง  จังหวัดปัตตานี  พลตรี ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4/ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นประธานประชุมชี้แจงความคืบหน้าของคณะทำงานบูรณาการและขับเคลื่อนงานสังคมพหุวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ครั้งที่ 3/2566 โดยมี รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1, ผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, ศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ , ปลัดอำเภอยะหริ่ง, ศูนย์ส่งเสริมวิชาการ, หน่วยเฉพาะกิจสันติสุข, กรรมการหมู่บ้าน, สภาสันติสุขตำบล, กำนันตำบลตะโละกะโปร์, ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านปาตา, โรงเรียนบ้านท่าด่าน, โรงเรียนบ้านท่ากุน, โรงเรียนบ้านท่าพง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อสร้างความเข้าใจและกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการขับเคลื่อนการดำเนินการบูรณาการหมู่บ้าน มัสยิด สถานศึกษาเป้าหมาย และกำหนดการติดตามประเมินผล  เพื่อจัดทำแผนพหุวัฒนธรรมหมู่บ้าน/ตำบล ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในห้วง (ม.ค. – ก.ย. 2566) ผ่านกลไกสภาสันติสุขตำบล

          โอกาสนี้ รองแม่ทัพภาคที่ 4/ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า  กล่าวว่า จากความร่วมมือ ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้มีความสำเร็จดีขึ้นมาตามลำดับ ซึ่งรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาดูแลด้านการศึกษา สร้างอนาคตให้กับ ลูก หลาน รวมทั้งสร้างความเข้าใจสังคมพหุวัฒนธรรมในสถานศึกษา และได้จัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า โดย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รับผิดชอบการบูรณาการงานทั้งปวงในพื้นที่ ตามคำสั่ง นายกรัฐมนตรี ที่ 19/64 เรื่อง การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  ย้ำสังคมพหุวัฒนธรรม คือเป้าหมายที่ มัสยิด คณะกรรมการหมู่บ้าน โรงเรียน และสภาสันติสุขตำบล ต้องบูรณาการร่วมกัน ทั้ง หน่วยงานด้านการศึกษา ,กรมการปกครอง ,ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ หน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ ร่วมกันขับเคลื่อนงานสังคมพหุวัฒนธรรมให้เป็นต้นแบบและเป็นตัวอย่างให้พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

          ด้าน นางอัสน๊ะ คำเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1 กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนชุมชนบ้านปาตา, โรงเรียนบ้านท่าด่าน ,โรงเรียนบ้านท่ากุน และโรงเรียนบ้านท่าพง  ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบนำร่อง สำหรับการขับเคลื่อนงานสังคมพหุวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ.2566 ย้ำมีความมั่นใจทั้ง 4 โรงเรียนจะต้องมีคุณภาพ ควบคู่กับการขับเคลื่อนการใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชน ภายใต้พหุปัญญา ที่บูรณาการหลักสูตรสถานศึกษา โดยให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เช่น  วัฒนธรรม, ประเพณี, วิถีชีวิต ,ความเป็นอยู่ และอาหาร ในพื้นที่ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำกับดูแล

          ทั้งนี้ การขับเคลื่อนงานสังคมพหุวัฒนธรรม ได้ดำเนินงานจัดทำตำบลที่มีความพร้อมอย่างน้อย จำนวน 2 แห่ง เป็นตำบลต้นแบบตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่น โดยจะเริ่มจากปัญหาสาเหตุความเดือดร้อนและการพัฒนาในระดับเขตบ้าน/ คุ้มบ้าน/ โซนบ้าน  ซึ่งขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านไปสู่สภาสันติสุขตำบล และชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการให้ มุ่งพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพครบถ้วนเหมาะสมกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพัฒนาความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า