ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กอ.รมน.ภาค 4 สน. ติดตามขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้วยกระบวนการ (CBTx)

574

          เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ณ ที่ทำการโครงการบำบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx) ตำบลป่าไร่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี พันเอก เสฏธวุฒิ จันทนะ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนบำบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบำบัดยาเสพติด หรือโครงการบำบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน CBTx (Community Based Treatment)

          สำหรับตำบลป่าไร่ เป็นตำบลนำร่องของอำเภอแม่ลาน ในการเข้ามามีบทบาทของชุมชนร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ในแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนโดยชุมชน ผ่านสภาประชาธิปไตยตำบล พร้อมพบปะรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานการแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน ร่วมแลกเปลี่ยนและรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการบำบัดรักษาและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกระบวนการ (CBTx) ทั้ง 5 ขั้นตอน ตั้งแต่การค้นหา คัดกรอง บำบัดฟื้นฟู การลดอันตรายจากยาเสพติด และการติดตามดูแลช่วยเหลือทางสังคม รวมถึงการส่งเสริมฝึกอาชีพให้แก่ผู้ป่วยยาเสพติดให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุขต่อไป ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการแก้ไขปัญหาเสพติด ของพลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สั่งการหน่วยในพื้นที่ให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกพื้นที่ภาคใต้ให้หมดสิ้นไป เพราะทุกข์ในใจของประชาชน คือลูกหลานติดยาเสพติด ถือเป็นหนึ่งในปัญหาลำดับต้นๆ ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยมีผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ตำรวจ ทหาร ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมวลชนจิตอาสาญาลันนันบารู และประชาชนในพื้นที่ในพื้นที่เข้าร่วม

          ทั้งนี้กระบวนการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจากยาเสพติด ด้วยกระบวนการ (CBTx ) เป็นกระบวนการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดให้ได้รับการบำบัดฟื้นฟูใกล้บ้านหรือภายในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการฟื้นฟูทางการแพทย์และทางสังคม โดยใช้ศักยภาพและความร่วมมือของคนในชุมชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตามบริบทและวิถีของชุมชนนั้นๆ โดยใช้กระบวนการ ( CBTx ) 5 ขั้นตอน ในการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดในชุมชนให้ได้รับการพัฒนาฟื้นฟูทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน และทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนการบำบัดยาเสพติดด้วยกระบวนการ ( CBTx ) ดังกล่าว เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยยาเสพติดให้สามารถลด ละ เลิกยาเสพติด และไม่กลับไปมีพฤติกรรมเสพติดซ้ำอีกต่อไป

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า