เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 เวลา 13.20 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังกรมทหารราบที่ 152 ค่ายสิรินธร อําเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ทรงเป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนาค่ายสิรินธร ครบ 42 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานชื่อค่ายสิรินธร ตามพระนามาภิไธยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2523 กองทัพบก จึงอนุมัติให้เป็นวันสถาปนาค่ายสิรินธร โดยกรมทหารราบที่ 152 มีภารกิจหลักด้านการทหารเพื่อความมั่นคงของประเทศ และเพื่อแก้ไขปัญหาการสร้างสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงจัดกำลังพลสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพื้นที่จังหวัดยะลา
จากนั้น ทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก ค่ายสิรินธร ซึ่งมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 เพื่อเป็นอาชีพเสริมแก่แม่บ้านทหารบกและกำลังพลได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยมีผู้ประกอบการโอทอป จังหวัดปัตตานี เข้ามาถ่ายทอดความรู้ด้านการเขียน การพิมพ์ การมัดย้อม และการใช้สีธรรมชาติ ให้กับสมาชิก 20 คน ปัจจุบันลายที่ได้รับความนิยมคือ “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และลายพื้นเมือง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ เสื้อผ้า ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋า และผ้าถุง ส่งจำหน่ายในร้านสมาคมแม่บ้านทหารบกกรุงเทพมหานคร โอกาสนี้ ทรงลงสีบนลายผ้าบาติก รูปดอกดาหลา ซึ่งอยู่บนภาพร่วมใจ 3 จังหวัดภาคใต้ มีว่าวโบราณ เรือกอและ นกเงือก ดอกชบา ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดปัตตานี เพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึก
ต่อจากนั้น ทรงเยี่ยมสมาชิกกองพันอาสารักษาหมู่บ้านของจังหวัดยะลา ที่ไปเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ แล้วทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการภายในค่ายสิรินธร อาทิ โครงการทหารพันธุ์ดี ใช้พื้นที่บริเวณสวนยางพาราในค่ายสิรินธร แต่เนื่องจากพื้นที่มีจำกัดและเป็นเนินเขา ในเดือนมกราคม 2563 จึงขยายพื้นที่ไปยังค่ายพระยาเดชานุชิต จังหวัดยะลา เพื่อให้กำลังพลเรียนรู้การทำเกษตรและปศุสัตว์ มีกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการปลูกพืชพันธุ์พระราชทาน ตลอดจนการเลี้ยงโคเนื้อ, ไก่, เป็ดไข่พันธุ์กากีแคมป์เบลล์ ส่วนพื้นที่ในค่ายสิรินธร มีการเลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล และแพะพันธุ์พื้นเมือง ผลผลิตที่ได้นำไปประกอบอาหารเลี้ยงกำลังพล ส่วนที่เหลือขายให้กับครอบครัวกำลังพลและประชาชนรอบค่ายในราคาย่อมเยา รวมทั้ง นำไปใส่ตู้ปันสุขบริเวณหน้าค่าย เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนกิจกรรมเกษตรทฤษฎีใหม่ จัดสร้างโรงเรือนเพาะเห็ด 5 โรง เพาะพันธุ์เห็ดเศรษฐกิจ ได้แก่ เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรมดำ และเห็ดขอนดำ พร้อมทดลองปลูกต้นกาแฟโรบัสต้า 60 ต้น และต้นโกโก้ 62 ต้น ในสวนยางพารา เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับกำลังพล, โครงการปลูกยางพาราพื้นที่ 40 ไร่ ได้ผลผลิตน้ำยางวันละ 180 กิโลกรัม และยางก้อน 200 กิโลกรัม รายได้ 40,000-80,000 บาทต่อเดือน แบ่งเป็นค่าตอบแทนกำลังพลร้อยละ 30 ที่เหลือใช้เป็นงบประมาณพัฒนาหน่วย โดยปีนี้ทดลองปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ก้านยาว และพันธุ์พื้นเมือง 300 ต้น
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการเรียนการสอนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ค่ายสิรินธร ปัจจุบันมีเด็กในความดูแล 23 คน และมีครูผู้ดูแลเด็ก 7 คน จัดการเรียนการสอนโดยมุ่งเน้นให้เด็กมีกระบวนการแสวงหาความรู้ หรือค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่เด็กอยากรู้หรือสงสัยด้วยวิธีการต่าง ๆ เป็นวิธีการเรียนรู้ที่เด็กได้เลือกศึกษาตามความสนใจของตนเองหรือของกลุ่ม ซึ่งสามารถนำผลการศึกษาไปใช้ได้ในชีวิตจริง ด้านโภชนาการ มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยตรวจสอบ แนะนำอาหารปลอดภัยและมีคุณค่าให้เด็กรับประทานครบ 5 หมู่ ในปี 2565 ได้รับรางวัลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ผลิตสื่อสร้างสรรค์จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า