จากกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 และปรากฏเป็นข่าวในสื่อโซเซียลกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวเยาวชนที่แต่งกายด้วยชุดมลายูนั้น จากการตรวจสอบพบว่าเป็นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ที่ได้สนธิกำลังเข้าติดตามจับกุมบุคคลตามหมายจับ ป.วิอาญาพร้อมพวกซึ่งได้ตรวจพบภาพข่าวความเคลื่อนไหวเตรียมก่อเหตุในเขตเมืองยะลา และได้เข้ามาหลบซ่อนพักพิงอยู่ที่บ้านเช่าภายในซอยสิโรรส 14 เขตตลาดเก่า ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จึงได้สนธิกำลังเข้าตรวจสอบเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มบุคคลดังกล่าว แต่ผู้ต้องหาได้ไหวตัวทันและหลบหนีไปได้ เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการเก็บรวบรวมหลักฐานพร้อมตรวจสอบบ้านเช่าที่อยู่ติดกันและได้เชิญตัวบุคคลภายในบ้านทราบชื่อภายหลังคือ นาย อานัส ดือเระ มาสอบถามข้อมูล ณ ชุดสืบสวนคดีความมั่นคง ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) เมื่อเวลา 09.00 น. โดยมีประธานชุมชนร่วมรับฟังการสอบถามและเป็นสักขีพยาน จากนั้นได้ปล่อยตัวกลับ ในเวลา 10.00 น. โดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
จากการดำเนินการดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าเป็นเพียงการเชิญตัวนาย อานัสฯ มาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มคนร้ายเท่านั้นโดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการแสดงออกในเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมมลายูของกลุ่มเยาวชนในห้วงที่ผ่านมาดังที่ได้พยายามกล่าวอ้างบิดเบือน ทั้งนี้เพราะการแสดงออกเชิงอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ดีงามและเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทยที่ทุกเชื้อชาติศาสนาสามารถแสดงออกได้ตราบใดที่ไม่ได้ละเมิดต่อหลักกฎหมายหรือมีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงที่ทำให้กิจกรรมผิดเพี้ยนไปดังหลักฐานที่ปรากฏให้เห็นในห้วงที่ผ่านๆ มา
พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4