เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2565 ที่ อุทยานการเรียนรู้ TK Park เทศบาลนครยะลา นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานโครงการส่งเสริมอนุรักษ์ผ้าท้องถิ่นมลายู “ปากายัน มลายู” ร่วมกับ ผู้แทนกงสุลใหญ่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย จังหวัดสงขลา ผู้แทนกงสุลใหญ่มาเลเซีย จังหวัดสงขลา โดยมี นายอำนาจ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า การจัดเดินแฟชั่นโชว์ ปากายัน มลายู ครั้งนี้ เกิดจากแรงบันดาลใจ 2 อย่าง คือ 1. เมืองยะลามีร้านขายผลิตภัณฑ์ผ้าและร้านขายเสื้อผ้าเป็นจำนวนมาก มีผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการขายออนไลน์ และการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่ยังต้องการการสนับสนุนด้านความรู้ การออกแบบแฟชั่น การเพิ่มมูลค่าสินค้า การพรีเซนต์สินค้า การเข้าใจธุรกิจสินค้าแฟชั่น การสร้างแบรนด์ และการทำตลาดสินค้าแฟชั่น และ 2. เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ลงนาม ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา เพื่อขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทยให้บรรลุเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ยกระดับการพัฒนา ส่งเสริมช่องทางการตลาดและการอนุรักษ์ผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่นจังหวัดยะลา
โดยผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐในการร่วมกันบูรณาการความร่วมมือจากสถานกงสุลใหญ่มาเลเซีย จังหวัดสงขลา สถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย จังหวัดสงขลา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา ภาคเอกชน สถาบันแฟชั่น Bangkok FA และภาคประชาชน เพื่อออกแบบกระบวนการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือผู้ผลิตลายผ้า ดีไซเนอร์ ผู้ตัดเย็บเสื้อผ้า ตลอดจนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ผ้า เพื่อให้มีการพัฒนาคุณภาพสินค้า ก้าวไปสู่มาตรฐานสากล เป็นที่ชื่นชอบ ของคนทั่วโลก สามารถสร้าง House Brand เป็นผู้นำแฟชั่น และยังเล็งเห็นถึงการนำเอาวัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าพื้นถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และประเทศเพื่อนบ้านคือประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน มาร่วมมือกันในการพัฒนาและก้าวสู่ศูนย์กลางแฟชั่นมลายูร่วมกัน และหวังอย่างยิ่งว่าหลังจากนี้ ยะลาจะมี Brand ชั้นนำที่ได้รับความนิยมทั่วโลกและตนจะพัฒนา ส่งเสริม ต่อยอดในการสร้างผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่นจังหวัดยะลา ตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย และจะสืบสานต่อยอด ให้แผ่ขยายออกไปและมีคุณภาพสู่สากล
ด้านนางสาวนาเดีย อับดุลเลาะ fatin nadia yala thailand กล่าวว่า วันนี้ได้มีการออกแบบเสื้อผ้าในลวดลาย “บูงายาลอ” (ดอกไม้แห่งเมืองยะลา) มีแนวคิดในการนำ ดอกพิกุลกับดอกไม้หลากหลายพันธุ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาผสมผสาน ตัดเย็บแบบร่วมสมัยด้วยผ้าบาติก ที่สวมใส่แล้วสบายตัว เพื่อให้ผู้สนใจนำมาสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ และฝากถึงน้องเยาวชนที่รุ่นใหม่ช่วยกันอนุรักษ์ ผ้าบาติกและนำไปต่อยอดเพื่อทำให้คนทั่วโลกได้รู้จัก ปากายัน มลายู มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ด้านนางสาวฮัลลือเม๊าะ ดอมะ กลุ่ม assama batik กล่าวอีกว่า ในการออกแบบลวดลายแต่ละครั้งจุดเริ่มต้น รักในการเขียนงานแล้วนำมาวาดเป็นลวดลาย ส่วนลวดลายการประกวดครั้งนี้ เกิดจากที่ไปตนเองได้ท่องเที่ยว ป่าฮาลา-บาลา แล้วนำเรื่องราวที่ได้พบเห็นนำมาถ่ายทอดบนพื้นผ้า ที่มีเรื่องราวต่างๆ อาทิ พันธุ์พืชหลากหลาย นก ด้วย ซึ่งต่อไปถ้ามีการขยายไปยังตลาดต่างประเทศ ลวดลายจะต้องเป็นแบบร่วมสมัยมาผสมผสานเอกลักษณ์ในพื้นที่ ในรูปแบบกราฟิกและถ้าหากมีการส่งเสริมแลกเปลี่ยนความรู้ ผู้คิดคันรูปแบบลวดลายจากประเทศเพื่อบ้าน จะนำไปสู้แนวคิดใหม่ๆ ให้กับคนในพื้นที่ต่อไป
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดยะลา ปากายันมลายู
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า