เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 เวลา 13.30 น. ที่ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมด้วยพลตำรวจโท นันทเดช ย้อยนวล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9, นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา, และส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงผลการปฎิบัติระดมกวาดล้างนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ ตามแผนยุทธการพิทักษ์นิบง 2/2565 โดยร่วมปฏิบัติการจับกุมเครือข่ายที่ร่วมกันสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ ฟอกเงิน ที่ได้มาจากการค้าขายยาเสพติดของเครือข่ายขบวนการค้ายาเสพติดรายสำคัญในพื้นที่ อำเภอบันนังสตา อำเภอเมืองยะลา และใกล้เคียง โดยสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้รวม 16 คน ยึดของกลาง ยาบ้า ได้รวม 1,323,778 เม็ด ไอซ์ 1.95 กิโลกรัม ตลอดจนยึดทรัพย์รวมมูลค่ากว่า 26 ล้านบาท
สำหรับการจับกุมเครือข่ายนักค้ายาเสพติดรายสำคัญครั้งนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ได้จับกุมผู้ต้องหา 3 คน พร้อมด้วยของกลาง ยาบ้า จำนวน 212,000 เม็ด ที่ได้จากการล่อซื้อของเจ้าหน้าที่ เหตุเกิดพื้นที่สถานีตำรวจภูธรลำใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ได้จับกุมผู้ต้องหา 2 คน พร้อมด้วยของกลาง ยาบ้า จำนวน 10,000 เม็ด พร้อมอาวุธปืน ออโตเมติก ขนาด .45 พร้อมกระสุนปืน จำนวน 1 กระบอก เหตุเกิดพื้นที่ สถานีตำรวจภูธรบันนังสตา จังหวัดยะลา และวันที่ 22 ธันวาคม 2563 จับกุมผู้ต้องหา รวม 2 คน พร้อมด้วยของกลาง ยาบ้า จำนวน 17,600 เม็ด ที่ได้จากการล่อซื้อของเจ้าหน้าที่ เหตุเกิดพื้นที่สถานีตำรวจภูธร บันนังสตา จังหวัดยะลา จากการขยายผลของหน่วยร่วมทุกหน่วย ทำให้เห็นการทำงานของเครือข่ายซึ่งมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกัน มีการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นระบบในกลุ่มเครือญาติ และยังเชื่อมโยงไปยังกลุ่มนักค้าทางภาคเหนือที่ส่งลำเลียงยาเสพติดลงมายังภาคใต้ และเข้ามาในพื้นที่จังหวัดยะลา และข้างเคียง จากนั้นจึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเสนอขออนุมัติต่อศาล เพื่อออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้รวมทั้งสิ้น 7 ราย พร้อมกับได้เปิดแผนปฏิบัติการพิทักษ์นิบง 2/2565 เริ่มตั้งแต่วันที่ 11-25 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อปิดล้อมตรวจค้น จับกุม ยึดทรัพย์บุคคลตามหมายจับในพื้นที่ต่างๆ ประกอบด้วย พื้นที่ อำเภอเมืองยะลา 1 จุด , พื้นที่ อำเภอบันนังสตา 4 จุด, พื้นที่ อำเภอธารโต จำนวน 2 จุด และพื้นที่พัทยา จังหวัดชลบุรี อีก 2 จุด รวมทั้งสิ้น 9 จุด สามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ทั้ง 7 คน พร้อมด้วยทรัพย์สินต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าขายยาเสพติดรวมมูลค่าประมาณ 23,340,375 บาท ต่อมายังได้ขยายผลต่อเนื่อง จนสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้อีก 1 คน ยึดยาบ้าได้รวม 44,158 เม็ด เหตุเกิดและจับกุมในพื้นที่ สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา และได้ขยายผลต่อเนื่อง วันที่ 13 มกราคม 2565 สามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้อีก 1 คน ยึดยาบ้าได้รวม 98,020 เม็ด, ไอซ์ 1.95 กก. เหตุเกิดและจับกุมในพื้นที่ สถานีตำรวจภูธรระโนด จังหวัดสงขลา วันที่ 22 มกราคม 2565 สามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้อีก 1 คน ยึดยาบ้าได้รวม 72,000 เม็ด เหตุเกิดและจับกุมในพื้นที่ สถานีตำรวจภูธรยะรัง จังหวัดปัตตานี และต่อมา ทีมขยายผลได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า จะมีทีมลำเลียงยาเสพติด เข้ามาในพื้นที่ จังหวัดยะลา จึงได้ทำการสืบสวนติดตามกลุ่มเป้าหมายตามข้อมูลที่ได้รับจากแหล่งข่าว จนทำให้สามารถสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาได้รวม 4 คน ประกอบด้วย 1. นาย เจริญวรรณ หลาบเจริญ อายุ 47 ปี 2. นาย เศกศักดิ์ ใจมั่น อายุ 31 ปี 3. นาย ศรศักดิ์ ปฐมทอง อายุ 34 ปี และ 4. นาย สายชล ขยายศรี อายุ 59 ปี พร้อมด้วยของกลาง ยาบ้า จำนวน 1,092,000 เม็ด ที่ซุกซ่อนมาในลังส้มสายน้ำผึ้งที่ลำเลียงลงมาจากภาคเหนือ นำมาเก็บพักในพื้นที่ อำเภอนาหน่อม เพื่อกระจายส่งไปในพื้นที่สงขลา ยะลา และพื้นที่ใกล้เคียง เหตุเกิดและจับกุมพื้นที่ สถานีตำรวจภูธรนาหม่อม จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ผลการปฏิบัติตามแผน “พิทักษ์นิบง 2/2565” ในครั้งนี้ สามารถสรุปผลการปฏิบัติได้ดังนี้ จับกุมตัวผู้ต้องหาได้รวม 16 คน ยึดของกลาง ยาบ้า ได้รวม 1,323,778 เม็ด ไอซ์ 1.95 กิโลกรัม ยึดทรัพย์รวมมูลค่าประมาณ 25,820,375 บาท เป็นการอายัดบัญชี รวม 43 บัญชี, บ้าน จำนวน 4 หลัง, ที่ดิน 4 แปลง, รถยนต์ จำนวน 10 คัน , รถจักรยานยนต์ จำนวน 7 คัน, ทองรูปพรรณ จำนวน 36 รายการ, เงินสด จำนวน 153,990 บาท
พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า ” การจับกุมเครือข่ายนักค้ายาเสพติดรายสำคัญครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ให้มีการปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง และเป็นผลสัมฤทธิ์ของการบูรณาการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน จนสามารถระดมกวาดล้างนักค้ายาเสพติดรายสำคัญในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีการประสานการทำงานกันอย่างสอดคล้อง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมสรรพกำลัง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง สำหรับนโยบายในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ในส่วนเรื่องการป้องกัน ปัจจุบันมีกลุ่มเยาวชนญาลันนันบารู มีกลุ่มภาคประชาสังคม และอื่นๆ ซึ่งจะช่วยกันสร้างความเข้าใจ สร้างการรับรู้ถึงเรื่องขบวนการยาเสพติดที่จะทำให้เยาวชนกลุ่มเสี่ยงห่างไกลจากยาเสพติดได้ นอกจากนี้ยังมีด้านการปราบปราม จะเห็นได้ว่ามีการปราบปรามผู้ค้ารายย่อยในชุมชน โดยมีการบูรณาการร่วมกันจับกุมกันอย่างต่อเนื่อง และจากการปฏิบัติงานเหล่านี้นำมาสู่การขยายผลสู่การจับกุมในครั้งนี้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นการจับกุมจากรายเล็กๆไปสู่การปฏิบัติการจับกุมรายใหญ่ นำไปสู่การยึดทรัพย์ตามลำดับ การปฏิบัติการในครั้งนี้มีการขยายผลกันอย่างต่อเนื่อง ในส่วนเรื่องการบำบัดรักษา มีดำเนินการโดยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนที่เรียกว่าชุมชนบำบัดหรือ CBTX ซึ่งมีการขยายไปทั่วทั้ง 37 อำเภอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตามกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และส่วนที่เกี่ยวข้องยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้พื้นที่ปราศจากยาเสพติด”
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า