เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกศบค.ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ผลจากการบูรณาการเร่งรัดปฏิบัติการเชิงรุกในทุกมิติภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ส่งผลในสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นโดยลำดับ โดยสามารถฉีดวัคซีนในภาพรวมได้แล้วเฉลี่ยร้อยละ 62.82 เพิ่มขึ้นจากห้วงก่อนจัดตั้ง ศบค.ส่วนหน้า ร้อยละ 17.86 โดยมีผลคืบหน้าดังนี้
- ภาพรวมสถานการณ์และแนวโน้ม
สถานการณ์ล่าสุดในการประชุม ศบค.ส่วนหน้า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 360 ราย, ยอดติดเชื้อสะสม 212,294 ราย, รักษาหายแล้ว 203,938 ราย, ยอดเสียชีวิตสะสม 1,537 ราย เฉลี่ยร้อยละ 0.72 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศร้อยละ 0.26 โดยพบว่าจังหวัดที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อเฉลี่ยมากที่สุดคือ จ.สตูล 1.13 % รองลงมาคือ จ.ปัตตานี 0.97 % และน้อยสุดคือ จ.สงขลา 0.43 % ทั้งนี้พบว่าผู้เสียชีวิตรายใหม่ 5 ราย (12 ธันวาคม 2564) เป็นผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนคิดเป็นร้อยละ 100 สำหรับผลการตรวจหาเชื้อเชิงรุกแบบ ATK ในรอบ 7 วัน พบมีผลเป็นบวกเฉลี่ยร้อยละ 5.28 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในห้วงเดือนตุลาคมเกือบร้อยละ 20 โดยพบจังหวัดที่มีผลตรวจเป็นบวกมากที่สุดคือ จ.สตูล คิดเป็นร้อยละ 10.77 รองลงมาคือ จ.สงขลา ร้อยละ 6.71 และน้อยสุดคือ จ.นราธิวาส คิดเป็นร้อยละ 1.43 ปัจจุบันมีอัตราการครองเตียงร้อยละ 38.6 น้อยกว่าห้วงสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.7 ทั้งนี้เนื่องจากมียอดรักษาหายมีจำนวนมากกว่าผู้ป่วยรายใหม่ และมีการปรับเพิ่มรูปแบบรักษาแบบศูนย์แยกกักตัวชุมชน (CI) และรักษาตัวที่บ้าน (HI) มากขึ้นคงเหลือเตียงว่าง 8,652 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ
- ผลคืบหน้าการฉีดวัคซีน
ปัจจุบันสามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เฉลี่ยร้อยละ 62.82 เพิ่มขึ้นจากห้วงสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.15 เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่าจังหวัดที่มีอัตราการฉีดสูงสุดคือ จ.สงขลา ร้อยละ 74.84, จ.ยะลา ร้อยละ 63.27, จ.สตูล ร้อยละ 58.32, จ.นราธิวาส ร้อยละ 52.36 และ จ.ปัตตานี ร้อยละ 51.63 ตามลำดับ โดยพบว่ายังมีอำเภอที่มีผลการฉีดต่ำกว่าร้อยละ 40 จำนวน 3 อำเภอประกอบด้วย อ.ยะรัง, อ.มายอ และ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ในขณะที่มีผลการฉีดวัคซีนในกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาเฉลี่ยร้อยละ 88.48 และกลุ่มนักเรียนร้อยละ 71.85
- มาตรการรองรับการเตรียมเปิดการเรียนแบบ on site
ผลจากการประชุมติดตามความคืบหน้าการเปิดการเรียนแบบ on site เมื่อวันที่ 8 – 9 ธันวาคม 2564 พบว่าจำนวนโรงเรียนที่สามารถเปิดการเรียนแบบ on site ได้เพียง 104 โรงเรียน จากทั้งหมด 5,528 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 1.8 ทั้งนี้เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการให้ผ่านเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ กล่าวคือ ต้องมีผลการฉีดวัคซีนในกลุ่มครูและนักเรียนร้อย 85 และชุมชนร้อยละ 70 ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนาน และอาจส่งผลกระทบต่อการเตรียมตัวสอบเลื่อนชั้นการศึกษา (ป.6, ม.3, ม.6) โดยล่าสุด ได้นำเสนอปัญหาดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล มติที่ประชุมเห็นชอบให้มีการทะยอยเปิดเรียนในบางพื้นที่ / อำเภอ บางโรงเรียน บางชั้นเรียน สำหรับโรงเรียนในสังกัดสถาบันการศึกษาปอเนอะ ซึ่งมีสถานะเหมือนโรงเรียนประจำ อนุญาตให้เปิดการเรียนได้โดยจะเข้าทำการตรวจหาเชื้อเชิงรุกแบบ ATK และฉีดวัคซีนเชิงรุกในทุกโรงเรียน
- ผลจากการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า-2019 ครั้งที่ 20/2564 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการปรับลดระดับพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) พร้อมทั้งได้กำหนดมาตรการผ่อนคลายการดำเนินกิจการ / กิจกรรมหลายอย่าง แต่ยังไม่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่จังหวัดนำร่อง เพื่อการท่องเที่ยวทั้ง 3 ระยะ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการให้ปรับลดระดับพื้นที่และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในราชอาณาจักรในลักษณะ TEST & GO (ทางบก) โดยให้ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศทางบกแบบ TEST & GO ในทุกมิติ เช่น ผู้เดินทางต้องฉีดวัคซีนครบโด้ส, ความพร้อมของด่านตรวจคนเข้าเมือง, การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ใน Day 1 และมีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ, มีระบบการติดตามผ่านแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” และมาตรการ Covid Free Setting โดยเฉพาะสถานประกอบการ ต้องมีมาตรฐาน SHA หรือ SHA+ เป็นต้น โดยในขั้นต้น กำหนดให้มีความพร้อมเปิดดำเนินการได้ตั้งแต่ 16 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้จะต้องผ่านความเห็นชอบจากการหารือร่วมกันอย่างเป็นทางการของรัฐบาลไทย และมาเลเซีย (โดยอาจเปิดทั้งหมดหรือเปิดเฉพาะกลุ่ม 5 จชต. กับกลุ่ม 4 รัฐตอนเหนือของมาเลเซียก็ได้)
ผลจากการบูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพและประสานสอดคล้องในทุกมิติเป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง ทุกกลไกแก้ไขปัญหาสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างประสานสอดคล้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สามารถทะยอยปรับลดระดับพื้นที่ และกำหนดมาตรการผ่อนคลายให้ประชาชนใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้น รวมทั้งให้มีการทะยอยเปิดการเรียนแบบ on site ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป โดย ศบค.ส่วนหน้า ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ / สังคม ดังนั้นการผ่อนคลายในแต่ละขั้นจะต้องพิจารณาภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ด้วยความรอบคอบอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ตามความพร้อมของสถานการณ์เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลังที่อาจทำให้เกิดความยุ่งยากมากยิ่งขึ้น
สุดท้ายนี้ ในนามของ ศบค.ส่วนหน้า ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งกลไกภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนงที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม และสนับสนุนในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ 5 จังหวดชายแดนภาคใต้อย่างเต็มที่กำลังความสามารถ ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี / ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้กรุณาเห็นชอบให้ ศบค.ส่วนหน้า จบภารกิจ และยุติบทบาทการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป โดยจะส่งมอบงานอำนวยการขับเคลื่อนที่ ศบค.ส่วนหน้า ดำเนินการมาแล้วให้ ศบค. ดำเนินการตามปกติต่อไป
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า