ชาวยะลา เลือกซื้อขนมวันจ่ายประเพณี ”สารทเดือนสิบ” เตรียมทำบุญ รับตา-ยาย พรุ่งนี้

852

          ตั้งแต่ช่วงเช้า ที่ตลาดสดยะลา ได้มีประชาชนชาวไทยพุทธ ทยอยออกมาจับจ่าย เลือกซื้อขนมตามประเพณีเดือนสิบ กันอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ขนมต้ม ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมเจาะหู เพื่อเตรียมนำไปทำบุญใหญ่ ส่งตา-ยาย ที่วัดใกล้บ้าน ส่วนราคาขนม ในปีนี้ยังคงเดิม ขนมลา กิโลกรัมละ 140 บาท ขายเป็นพับๆ ละ 50 บาท ขนมเจาะหู 100 ลูก ราคา 100 บาท ขนมต้ม กิโลกรัมละ 150 บาท ส่วนขนมพอง ขนมกง ขนมบ้าฯลฯ  จัดแบ่งขายเป็นถุงๆ ถุงละ 20 – 60 บาท

           ชาวยะลา บอกว่า จะซื้อของเตรียมไปทำบุญรับตา-ยายวันพรุ่งนี้ ส่วนหนึ่งก็จะนำไปวัดเลย วันนี้เป็นวันพระไปทำบุญอยู่แล้ว จะนำไปตั้งที่หน้าบัว กลัวพรุ่งนี้ทางวัดไม่ได้จัดกิจกรรมช่วงโควิด ถือว่าได้ทำตามประเพณีอุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ส่วนตัวก็ได้ฉีดวัคซีนครบแล้ว

           ขณะที่ ทางสถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา ได้จัดเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณตลาด สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ซึ่งตลอดทั้งวันนี้ จะมีประชาชนออกมาจับจ่ายซื้ออาหารกันเป็นจำนวนมาก

           ประเพณีวันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีทำบุญ ในเดือน 10 เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ถือว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10

           การทำบุญในประเพณีนี้ จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันบุญแรก หรือ วันรับตา-ยาย ซึ่งปี 2564 ตรงกับวันที่ 22 กันยายน 2564 และบุญหลัง หรือวันส่งตา-ยาย แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ซึ่งการทำบุญของประชาชนส่วนใหญ่ ก็จะนิยมไปทำบุญกัน ในวันบุญหลัง หรือวันส่งตายาย เนื่องจากมีความสำคัญมากกว่า แต่จะมีบางครอบครัว ที่จะไปทำบุญทั้งรับและส่ง ในงานประเพณีวันสารทเดือนสิบ

             ทั้งนี้ ในช่วงผ่อนคลายมาตรการ ซึ่งจังหวัดยะลา ยังคงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ทางจังหวัดจึงได้กำหนด มาตรการ ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทั้งวัด ที่จะต้องกำหนดช่องทางเข้า-ออก ลงทะเบียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน จัดจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ มีบริการเจลล้างมือ มีการเว้นระยะห่างในการทำกิจกรรม อย่างน้อย 1 – 2 เมตร/คน มีการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อในบริเวณวัด ก่อน – หลัง ทำกิจกรรม รวมถึงพระภิกษุทุกรูปต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างน้อย 1 เข็ม พระภิกษุทุกรูปต้องสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา และปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างในทุกกิจกรรม ส่วนพุทธศาสนิกชนที่เข้าร่วม ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างน้อย 1 เข็ม และสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา และปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด และให้หลีกเลี่ยงการร่วมกิจกรรมของผู้สูงอายุ งดรับประทานอาหารร่วมกันที่วัด แต่สามารถจัดภัตราหารถวายได้ตามความเหมาะสม สำหรับกิจกรรม “ชิงเปรต” จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมไม่เกิน 10 คน และต้องตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม

ขอบคุณข่าว : สทท.ยะลา

ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า