กอ.รมน.ภาค 4 สน. ร่วมกับ ศอ.บต. และ กกล.ตร.จชต. ชี้แจงความก้าวหน้างานสำคัญ จับมือเดินหน้าร่วมแก้ไขปัญหาพื้นที่ จชต.

1605

         วันนี้ ( 4 มีนาคม 2564 ) เวลา 09.30 น. ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พันเอก เกียรติศักดิ์  ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วย พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์  ทองสองสี หัวหน้างานกิจการพลเรือน กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ /ผู้ช่วยโฆษก กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนาย ธีรพงษ์  เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ / โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมแถลงข่าวชี้แจงการปฏิบัติงานในห้วงเดือนที่ผ่านมา

        พันเอก เกียรติศักดิ์  ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า สำหรับผลการปฏิบัติงานที่สำคัญของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในห้วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (รอบเดือน ก.พ. 64) มีทั้งหมด 3 เรื่อง ประกอบด้วย งานควบคุมพื้นที่และการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 เวลาประมาณ 05.30 น. ได้เกิดเหตุกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง โจมตีชุดปฏิบัติการจรยุทธกองร้อยทหารพรานที่ 4513 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต จำนวน 2 นาย และได้รับบาดเจ็บ จำนวน 1 นาย หลังจากเกิดเหตุหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ได้จัดตั้งที่บังคับการทางยุทธวิธีขึ้น ต่อมา แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและประชุมติดตามสถานการณ์  พร้อมสั่งการให้หน่วย เร่งตรวจสอบรวบรวมวัตถุพยานต่าง ๆ กดดัน และเฝ้าตรวจทางอากาศ ตรวจสอบเส้นทางที่คาดว่าคนร้ายจะหลบหนี เพื่อติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว พร้อมให้ทุกพื้นที่เพิ่มมาตรการในการคุ้มครองเส้นทาง และบูรณาการกำลังทุกภาคส่วนในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชน จากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ในห้วงที่ดังกล่าว สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเป็นความพยายามของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ต้องการตอบโต้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ หลังจากมีการเปิดแผนเชิงรุกเข้าพื้นที่ป่าภูเขา และพื้นที่ Support Site ซึ่งเป็นแหล่งหลบซ่อนพักพิงของผู้ก่อเหตุรุนแรง เพื่อเข้าบังคับใช้กฎหมายพร้อมกันในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้เปิดแผนเข้าสกัดกั้นและกวาดล้างแรงงานต่างด้าว ยาเสพติด กลุ่มอิทธิพล ตลอดจนสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้สามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวกว่า 300 คน และ ผู้นำพา 15 คน รวมทั้งจับกุมเครือข่ายยาเสพติดที่นำไปสู่การยึดทรัพย์มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท ทั้งหมดนี้อาจเป็นปัจจัยเร่งทำให้มีการสร้างสถานการณ์เพื่อเป็นการตอบโต้ดังที่เคยปรากฏให้เห็นทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือมายังพี่น้องประชาชนในพื้นที่ หากพบเห็นสิ่งผิดปกติ หรือบุคคลต้องสงสัยเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ สามารถแจ้งได้ที่เบอร์สายตรงแม่ทัพภาคที่ 4 โทร 061 – 173 – 2999 และเบอร์สายด่วน 1341 หรือหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับกำลังพลที่เสียชีวิต ทั้ง 2 นาย แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้เร่งดูแลเรื่องสิทธิตามระเบียบของทางราชการ อาทิ เงินช่วยเหลือ ค่าจัดการศพ ค่าทดแทน และการพิจารณาบรรจุทายาททดแทนตามสิทธิ์ โดยในวันนี้ ( 4 มีนาคม 2564 ) พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ อส.ทพ. ศรราม ราชรักษ์  ณ วัดควนส้าน อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ในเวลา 16.00 น.  งานส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง โดยเมื่อวันที่13 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 น. แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้เดินทางไปที่แปลงนาข้าววัดโพธิธาราม บ้านละโพ๊ะ ตำบลป่าไร่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ซึ่งสถาบันพระปกกล้า โดยจังหวัดปัตตานีในนามของข้าราชการพนักงานศูนย์พัฒนาการเมือง คณะนักเรียนพหุวัฒนธรรม ตำบลป่าไร่ และชาวนาผู้ร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์เพื่อความมั่นคงทางอาหารต้านภัย covid-19 และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ได้จัดกิจกรรมเก็บเกี่ยวข้าวผลผลิตโครงการเกษตรนารวมผลิตข้าวอินทรีย์ขึ้น ด้วยโครงการเสริมสร้างระบบฐานรากเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชน และเสริมสร้างความเข้มแข็งของพลเมืองภายใต้สภาพสังคมพหุวัฒนธรรม” โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ โดยแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า “เมื่อรับทราบข่าวกิจกรรม ก็รีบตอบรับทันที เพราะกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ และดีใจที่ได้มาร่วมกิจกรรมสำคัญ ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ถือว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน 1 ใน 5 งาน ที่ต้องดำเนินการ ให้สังคมมีความเป็นพหุวัฒนธรรม ซึ่งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการช่วยแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างสันติสุขในพื้นที่ การหันหน้าคุยกัน จะสร้างความผูกพัน แก้ปัญหาความรุนแรงได้ ความดีงามทางสังคมพหุวัฒนธรรม มิตรไมตรีของคนในพื้นที่จะทำให้ผู้คนทุกศาสนา อยู่ร่วมกันได้อย่าง อย่างยั่งยืน และด้านการช่วยเหลือประชาชนได้ดำเนินโครงการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่ผ่านมาหน่วยเฉพาะกิจยะลาได้ดำเนินงานหลากหลายโครงการ  อาทิ โครงการ “หน่วยเฉพาะกิจยะลา ไม่ทิ้งท่าน”  โครงการ “เสริมทักษะภาษาไทย สร้างโอกาส เพื่ออนาคต” และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน เพื่อน้องๆ สอนให้เยาวชนปลูกผักสวนครัวใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ สำหรับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ได้ดำเนินการ  โครงการ “ฉก.นราธิวาส ซ่อมสร้าง ปันสุข” เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนรับทราบและเข้าใจถึงปัญหาของประชาชนในพื้นที่ และสร้างความเข้าใจและสร้างทัศนคติที่ดีระหว่างประชาชนและภาครัฐ และ โครงการ “ลดช่องว่างสร้างความเข้าใจ ร่วมแก้ไขปัญหาความรุนแรง” พบปะพูดคุยกับครอบครัวผู้เห็นต่าง สร้างความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหา จชต. ต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข ในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี

        ขณะที่ พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์  ทองสองสี หัวหน้างานกิจการพลเรือน กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ /ผู้ช่วยโฆษก กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีความมั่นคงที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ห้วงเดือน กุมภาพันธ์ 2564 ถึงปัจจุบันว่า สำหรับสถิติการเกิดเหตุความรุนแรงตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2564 เกิดเหตุ 23 เหตุ, สถิติผู้เสียชีวิตจากเหตุความมั่นคง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2564 มีผู้เสียชีวิต รวม 7 ราย, สถิติผู้บาดเจ็บจากเหตุความมั่นคง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2564 มีผู้บาดเจ็บ รวม ๙ ราย และสถิติการออกหมายจับ ป.วิ.อาญาคดีความมั่นคง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์  ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2564 จำนวน 3 หมาย จับกุม 1 ราย หลบหนี จำนวน 2 หมาย

        สำหรับความคืบหน้าคดีสำคัญในพื้นที่ ได้แก่ เหตุลอบวางระเบิดและซุ่มยิง เจ้าหน้าที่ทหารพราน ชุดปฏิบัติการจรยุทธ กองร้อยทหารพรานที่ 4513 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ผลการตรวจพิสูจน์ปลอกกระสุนปืน ของกลางพบว่า ใช้ยิงมาจากอาวุธปืน จำนวน 18 กระบอก พบประวัติการก่อเหตุจำนวน 7 กระบอก เชื่อมโยง  19 คดี ที่สำคัญได้แก่ เหตุยิง เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า บาดเจ็บ 2 ราย เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 และคดีดังกล่าวออกหมาย ป.วิ.อาญา 6 หมาย จับกุมแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี 1 รายและผลการตรวจพิสูจน์สะเก็ดระเบิด (Toolmark) พบว่า เชื่อมโยงกับเหตุลอบวางระเบิด เจ้าหน้าที่ทหารพราน ชุด รปภ.ครู เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 2 นาย เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุในคดีนี้   เป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มคนร้ายในคดีดังกล่าว

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ตรวจพบรถยนต์กระบะ สี่ประตู ยี่ห้อ มิตซูบิชิ รุ่นไทรทัน สีดำ บรรทุกผู้โดยสารท้ายกระบะ จำนวน 6 คน สวมใส่ฮิญาบและแมส ปิดบังใบหน้า ผ่านกล้องวงจรปิด ต่อมา มีการควบคุมผู้ต้องสงสัย จำนวน 2 คน จากการซักถาม ขยายผล ยอมรับว่าได้บรรทุก ผู้ก่อเหตุรุนแรง  จากพื้นที่อำเภอศรีสาคร มาหลบซ่อนในพื้นที่อำเภอกะพ้อ และยังขยายผลควบคุมตัว ผู้ที่ขับรถจักรยานยนต์นำทาง และให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 3 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการซักถาม มีผลคำพิพากษาคดีที่สำคัญดังนี้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ศาลจังหวัดปัตตานี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีลอบวางระเบิด เขตเทศบาลเมืองปัตตานี เมื่อปี 2559 โดยลงโทษประหารชีวิต 6 คน จำคุกตลอดชีวิต  3 คน และจำคุก 36 ปี 8 เดือน 1 คน  ซึ่งยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์, เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลจังหวัดปัตตานี พิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต 1 คน ในคดียิงนายโชติ  อยู่เจริญ และนางอรวรรณ  ดอกเตย (เสียชีวิต) เมื่อ 21 มกราคม 2551  และเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลจังหวัดปัตตานี พิพากษา จำคุกตลอดชีวิต 1 คน คดียิงนายฮำมือซะ แซยูโซะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสียชีวิต เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2564

        ทางด้าน นาย ธีรพงษ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ / โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการขับเคลื่อนงานในมิติต่างๆ รวมทั้งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง มีการกำหนดกลยุทธงานด้านการประชาสัมพันธ์ การนำเสนอข้อมูลสิ่งดีๆ ความสวยงามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านสื่อต่างๆเพิ่มมากยิ่งขึ้น, ด้านการดำเนินงานเข้าไปดูแลในส่วนของกลุ่มแรงงานไทยที่ไปทำงาน ณ ประเทศมาเลเซีย และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 ซึ่งต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเนื่องจากมาเลเซียประกาศปิดประเทศ ทำให้ขาดอาชีพ ขาดรายได้ ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเป้าหมายช่วยเหลือแรงงานไทยรวมถึงเยาวชนในพื้นที่ให้มีงานทำ มีรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดปัญหาภาวะ การว่างงานที่เกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานคนไทยในประเทศมาเลเซียต้องเดินทางกลับเข้าประเทศ ภายหลังมาเลเซียประกาศปิดประเทศ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ รัฐบาลและ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำพี่น้องประชาชนคนไทยในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ว่างงานและที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ไปทำงานที่ บริษัท cal comp electronics (Thailand Co.Ltd) จังหวัดเพชรบุรี, ด้านการช่วยเหลือกลุ่มนักศึกษาชายแดนใต้ที่ไปศึกษายังต่างประเทศและต้องกลับภูมิลำเนาเนื่องจากได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ได้จัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาไทยจังหวัดชายแดนภาคใต้จากต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) โดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีข้อสั่งการให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้   ดำเนินการช่วยเหลือด้านการการศึกษาของนักศึกษากลุ่มดังกล่าว และด้านการดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยได้ขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ดำเนินการกิจกรรมสนับสนุนด้านศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงกิจกรรมไทยพุทธคืนถิ่น ดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มไทยพุทธเปราะบางที่อพยพย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่ และมีความคิดจะอพยพย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่ ให้กลับคืนถิ่นบ้านเกิด โดยในปีงบประมาณ 2563 ได้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมบ้านให้มีสภาพที่พักอาศัยได้ ให้แก่ชุมชนไทยพุทธเปราะบางขึ้นในพื้นที่ รวมจำนวน 251 หลัง อย่างไรก็ตาม พี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจและรู้สึกดีใจที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดจนทุกภาคส่วนได้ ให้การช่วยเหลือ สนับสนุนอุปกรณ์ในการซ่อมแซมบ้านให้สามารถกลับมามีที่พักอาศัย เพราะอยากกลับมาใช้ชีวิตอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันที่บ้านเกิดอีกครั้ง

        นอกจากนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังได้เข้าร่วมประชุม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุม  ประชุมมีประเด็นการพิจารณาและเร่งรัดการดำเนินการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการหารือพิจารณาประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไข จำนวน 4 เรื่อง คือ การแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา การบริหารจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาสุขภาวะและภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเล็ก และหารือแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส   สืบเนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบปัญหาอย่างหนักจากโรคระบาดชนิดใหม่ส่งผลให้ใบยางพาราร่วงและยืนต้นตายในบางส่วน, ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเเก้ไขวิกฤติปัญหาน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากและน้ำแล้ง ซึ่งจะได้ประสานการทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นเอกภาพและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องปัญหาสุขภาวะและภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ประชุมมีมติ มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันทำงานให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายและกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ในส่วนของแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้ จังหวัดนราธิวาส ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ต่อไปเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เห็นเป็นรูปธรรม

………………………………………………………………………………………….

ขอรับรองว่าเป็นข่าวสารของทางราชการ

(นางสาวฐานิตา ร่มเย็น)

รองหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า