วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 1330 น. ที่สโมสรรื่นฤดี ค่ายวชิราวุธ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 จัดการประชุม คณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 โดยเชิญผู้รับผิดชอบในสายงานรักษาความมั่นคงภายในในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย อธิบดีอัยการภาค 8, ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9, ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ เข้าร่วมการประชุม โดยมี พลโทเกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธาน
ซึ่งจากสถานการณ์ภัยคุกคาม ด้านความมั่นคงในปัจจุบัน ที่มีความสลับซับซ้อนของปัญหามากขึ้น ยากที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จะแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงเป็นหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่เข้ามามีบทบาทในการบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา ด้วยเหตุนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เพื่อการแก้ไขปัญหาแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และทั่วถึงทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง คณะกรรมการ มีหน้าที่ในการอำนวยการ บูรณาการ ประสานงาน และขับเคลื่อนงานที่ติดขัดปัญหา โดยใช้ช่องทาง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ และแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชน มีความรู้สึกถึงความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามนโยบายผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมในครั้งนี้
โดย ผู้อำนวยการรักษาความั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า กอ.รมน. เป็นหน่วยงานของรัฐบาล ไม่ใช่หน่วยงานของทหารโดยเฉพาะ แต่เป็นหน่วยงานที่ต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ในรูปแบบของ “คณะกรรมการ” โดยยึดถือสถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นหลัก การปฏิบัติงานเน้นการบูรณาการประสานงานร่วมกัน ใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดในการขจัดผู้มีอิทธิพล สร้างความเป็นธรรม รักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลแหล่งท่องเที่ยว แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ สร้างภาพลักษณ์ให้กับ กอ.รมน. และขอแสดงความชื่นชมกับทุก กอ.รมน.จังหวัด ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างเด็ดขาด จำนวนผู้ป่วยลดลง และไม่ตรวจพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ข้อห่วงใยของรัฐบาลที่จะมีกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นพาหะนำพาเชื้อไวรัสเข้ามา โดยขอเน้นย้ำกองกำลังป้องกันชายแดน ทหาร ตชด. และเจ้าหน้าที่ศุลกากร ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด เพื่อตรวจจับ ผลักดันผู้ลักลอบเข้าเมืองให้ออกนอกประเทศ สำหรับนโยบายการแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นแผนงานสำคัญของทุกรัฐบาล และกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติด้วย คือ “การสร้างความปลอดภัย และความสันติสุขอย่างถาวรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาเป็นหลัก และการสร้างสังคมสันติสุข พูดคุยด้วยสันติวิธี ให้สามารถอยู่ในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย แต่ไม่แตกแยก บังคับใช้กฎหมายกับผู้ก่อเหตุรุนแรง ใช้กำลังออกปฏิบัติการเป็นชุดจรยุทธ และมี ศอ.บต. สนับสนุนในงานการพัฒนา การปฏิบัติงานต่าง ๆ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า