วันนี้ ( 5 กุมภาพันธ์ 2564 ) เวลา 09.30 น. ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พันเอก วัชรกร อ้นเงิน รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วย พันตำรวจเอก วศิน จินตเสถียร ผู้กำกับการ (สอบสวน) กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ /ผู้ช่วยโฆษกกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ นาย ธีรพงษ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ / โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมแถลงข่าวชี้แจงการปฏิบัติงานในห้วงเดือนที่ผ่านมา
พันเอก วัชรกร อ้นเงิน รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า จากกรณีการจัดตั้งที่บังคับการทางยุทธวิธีหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ซึ่งได้เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมพื้นที่ชายแดนป้องกันการลักลอบผ่านแดนโดยผิดกฎหมาย ซึ่งภายหลังจากที่ประเทศมาเลเซียมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ควบคุมการสัญจร และปิดประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าวรวมถึงคนไทย จะทำการลักลอบเข้าประเทศไทยตามแนวชายแดนผ่านช่องทางธรรมชาติที่ผิดกฎหมาย โดย พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้จัดตั้งที่บังคับการทางยุทธวิธีหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสขึ้น ณ หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อเพิ่มความเข้มงวดและควบคุมการปฏิบัติตามแนวชายแดน สกัดกั้นการลักลอบผ่านแดนโดยผิดกฎหมายในพื้นที่ อำเภอแว้ง อำเภอตากใบ และ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้เพิ่มมาตรการในการลาดตระเวน อย่างเข้มข้นทุกตารางนิ้ว สกัดกั้นทั้งทางน้ำ ทางบก และใช้ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ตามแนวชายแดน โดยได้บูรณาการคนและเครื่องมือร่วมกับทุกภาคส่วนในการบังคับใช้กฎหมายตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด พร้อมกับเสริมกำลังตามแนวชายแดน จัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด โดยเฉพาะช่องทางที่มีชุมชนหรือหมู่บ้านอาศัยอยู่ใกล้แนวชายแดน และจัดตั้งแหล่งข่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้นการลักลอบผ่านแดนโดยผิดกฎหมาย ตลอดจนจัดชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือนลงพื้นที่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ถึงความสำคัญในเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งขอความร่วมมือ และช่วยแจ้งเบาะแสกับเจ้าหน้าที่ในการสกัดกั้นการกระทำผิดตามแนวชายแดน เพื่อตัดต้นตอของขบวนการนำพา ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการจับกุมผู้ลักลอบผ่านแดนโดยผิดกฎหมายได้ จำนวน 34 ครั้ง ผู้ต้องหา จำนวน 269 คน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดีในการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดจนนำไปสู่การจับกุมดังกล่าว
สำหรับเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรศรีสาครพร้อมด้วยชุด EOD ขณะกำลังเดินทางเข้าตรวจสอบเหตุ คนร้ายก่อกวนแขวนป้ายผ้า เหตุเกิด ณ บริเวณบ้านปาหนันถึงบ้านไอร์กาแซ ตำบล ศรีสาคร อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564 เวลา 12.20 น. ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 8 นาย
ตามที่ได้ปรากฏภาพเหตุการณ์ผ่านสื่อมวลชนหลายแขนงในห้วงที่ผ่านมานั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 พลเอก พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เหตุลอบวางระเบิด พร้อมรับฟังสรุปสถานการณ์เพื่อปรับแผนการปฏิบัติ ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่มีการปรับเปลี่ยนของผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยได้เน้นย้ำให้ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ต้องไม่ประมาท ลาดตระเวนเส้นทางให้ปลอดภัย เพื่อให้ชาวบ้านได้อุ่นใจ เห็นทหารอยู่ใกล้ชิด คอยช่วยดูแลพื้นที่ได้ หากมีอะไรผิดสังเกตก็จะได้เข้าไปตรวจสอบได้ทันท่วงที นอกจากนี้จะต้องเพิ่มความละเอียดในการตรวจสอบพื้นที่เส้นทางล่อแหลม จุดเสี่ยง ต้องเพิ่มการตรวจตราโดยเฉพาะบริเวณท่อลอด คอสะพาน หรือจุดอื่น ๆ ที่ไม่คิดว่าจะสามารถใช้เป็นที่ก่อเหตุได้
ขณะที่ พันตำรวจเอก วศิน จินตเสถียร ผู้กำกับการ (สอบสวน) กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ / ผู้ช่วยโฆษกกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าคดีสำคัญจากกรณีเหตุระเบิดรถยนต์เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรศรีสาคร ขณะเดินทางเข้าตรวจสอบเหตุเผาเสาสัญญาณโทรศัพท์ ในพื้นที่อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้รถยนต์ของทางราชการเสียหาย จำนวน 3 คัน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีภูธรศรีสาคร ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 5 นาย จากการตรวจที่เกิดเหตุระเบิดพบวัตถุพยานเป็นชิ้นส่วนถังแก๊สขนาดบรรจุ 15 กิโลกรัม และเหล็กเส้นตัดท่อนพร้อมด้วยสายไฟฟ้าที่ใช้สำหรับจุดชนวนระเบิด และจุดที่เผาเสาสัญญาณโทรศัพท์พบระเบิดขว้างแสวงเครื่อง V7 ภายในไม่ได้บรรจุดินระเบิดพบท่อเหล็กยาว 6 นิ้วหนัก 10 กิโลกรัม ซึ่งภายในบรรจุดิน ANFO รวมระเบิดสามลูกเก็บกู้ได้จำนวนสองลูก
จากการตรวจพิสูจน์พบว่าระเบิดแสวงเครื่องแบบบังคับทิศทาง มีลักษณะการประกอบระเบิดแบบเดียวกับที่พบในเหตุตรวจพบระเบิดบริเวณป่า หมู่ที่ 5 อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา และวงจรดีเลย์สวิสที่พบในเหตุระเบิดมีลักษณะการประกอบระเบิด แบบเดียวกับที่พบในเหตุปะทะกับคนร้ายบนเขาบ้านจือกอ หมู่ที่ 7 ตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการตรวจสอบเหตุเผาเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส พบว่า อยู่บริเวณหน้าบ้านผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีฆ่าชิงทรัพย์ 2 แม่ลูกค้าทอง ที่หมู่ที่ 6 อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ขณะนี้ได้ถูกควบคุมตัวตามหมาย พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ศูนย์พิทักษ์สันติ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปรวบรวมพยานหลักฐานจำนวนหลายครั้ง จึงตกเป็นเป้าสังเกตของผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยในพื้นที่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุยังมีเหตุยิง นายโสภณ ทาสุข ราษฎรหาของป่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา และพบแหล่งพักพิงของผู้ก่อเหตุรุนแรงจากการเก็บวัตถุพยานพบดีเอ็นเอ จำนวน 9 โปรไฟล์ สามารถพิสูจน์ทราบระบุตัวบุคคลได้ 4 โปรไฟล์ และออกหมายจับแล้ว ส่วนดีเอ็นฮาฟแมต 1 ราย เป็นส่วนที่เหลือยังไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้
ทางด้าน นาย ธีรพงษ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ / โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ส่งต่อความปรารถนาดีจาก พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เนื่องในวันตรุษจีนที่กำลังจะถึงนี้ถึงพี่น้องประชาชนทุกคน รวมถึงชี้แจงความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ของ ศอ.บต. อาทิ การลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจและมอบเตียงผู้ป่วยให้ผู้ป่วย ผู้พิการ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดยะลา จำนวน 3 ราย, โครงการมอบบ้านที่ปรับปรุงใหม่ เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดยะลา จำนวน 9 หลัง, การหารือเพื่อให้ความช่วยเหลือนักศึกษาที่จบจากต่างประเทศ แต่ไม่ได้รับการรับรองวุฒิการศึกษาและสถาบัน รวมถึง ความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Smart City ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa Thailand) จับมือผู้ว่าฯ 5 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรและภาคธุรกิจ พร้อมส่งเสริม สนับสนุนให้ชุมชนหรือภาคประชาชนเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมดิจิทัลในการยกระดับขีดความสามารถ ลดต้นทุนและสร้างโอกาสด้านรายได้ ซึ่ง ศอ.บต. จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยง หนุนเสริม เติมเต็มผู้ว่าราชการทั้ง 5 จังหวัด เพื่อขับเคลื่อนในเรื่องดิจิทัลนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี เน้นเรื่องพื้นที่เมืองน่าอยู่ หรือเมืองอัจฉริยะ คาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในปี 2564 – 2565
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า