3 ฝ่ายร่วมแถลงผลการปฏิบัติงาน ห้วง 3 เดือนที่ผ่านมา เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจถึงภาพรวมสถานการณ์และความคืบหน้าด้านต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

37

          วันที่ 26 ธันวาคม 2567 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วย กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมแถลงผลการปฏิบัติงานของหน่วย เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชน ต่อการปฏิบัติงานของหน่วยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อบูรณาการทำงานร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยมี พันเอก ปองพล สุทธิเบญจกุล รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วย พันตำรวจเอก อนุพงษ์ ทัศนา หัวหน้างานกฎหมายและสอบสวนกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายธีรวิทย์ เฑียรฆโรจน์  รองโฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมแถลงผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ ในห้วงเดือนตุลาคม ถึง เดือนธันวาคม 2567

         พันเอก  ปองพล สุทธิเบญจกุล  รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้กล่าวแถลงถึงผลการปฏิบัติงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในห้วง 3 เดือนที่ผ่านมา “ในพื้นที่ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนทั้งสิ้น 33 เหตุการณ์ ประกอบด้วย เหตุยิง จำนวน 13 เหตุ, เหตุระเบิด จำนวน 16 เหตุ และเหตุวางเพลิง จำนวน 4 เหตุ โดยมีผู้เสียชีวิต 9 ราย  และจากการควบคุมพื้นที่และการบังคับใช้กฎหมาย งานการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากหลักฐานวัตถุพยาน หลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ และจากการแจ้งข้อมูลของพี่น้องประชาชน ในห้วงที่ผ่านมา สามารถขยายผลบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ต้องสงสัย ที่ก่อเหตุในพื้นที่หลายเหตุการณ์  ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนที่แจ้งเบาะแสผ่านสายด่วนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า 1341 และสายตรงแม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ผ่านเบอร์โทรศัพท์ 061-1732999 จนนำไปสู่การขยายผลและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อนำตัวผู้ก่อเหตุเข้าสู่กระบวนการต่อไป

          สำหรับแผนการรักษาความปลอดภัยเทศกาลปีใหม่ ประจำปี 2568 ซึ่งมีวันหยุดติดต่อกัน พี่น้องประชาชนอาจมีการเดินทางสัญจรไปมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพักผ่อน, ท่องเที่ยว หรือไปพบญาติ และในหลายๆ พื้นที่จะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าว ทาง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และเจ้าหน้าที่ทุกนาย พร้อมที่จะดูแลความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในห้วงวันหยุดยาว โดยได้มีการเตรียมพร้อมในการเปิดแผนปฏิบัติการรักษาความปลอดภัย รวมถึงมีการปรับจุดตรวจ/ด่านตรวจเป็นจุดบริการประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยวที่เดินทางสัญจรในพื้นที่ ให้ได้รับความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการเดินทาง เพื่อให้พี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มีความสุขและความปลอดภัยในตลอดห้วงเทศกาลปีใหม่นี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกนายนั้นพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มขีดความสามารถตลอดห้วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึง

          และนอกจากนี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในห้วงเดือน ตุลาคม – ธันวาคม 2567 โดยดำเนินการจัดกิจกรรมเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนที่ต้องการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ของตนเอง เสริมสร้างเป็นข่ายงาน คอยรายงานข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดให้กับทางราชการในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสกัดกั้น ปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด รวมถึงเป็นการเสริมสร้างศักยภาพความเป็นผู้นำในการสร้างพลังชุมชน/พลังสังคมเข้าแก้ปัญหายาเสพติดโดยสันติวิธี ตามกระบวนการของ CBTx  สำหรับการบำบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนตามกระบวนการ CBTx  โดยให้ชุมชน และส่วนราชการในพื้นที่ร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกัน

          ในด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมในสังคมพหุวัฒนธรรม ห้วงที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จัดพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน (จำนวน 4 ไตร) ให้กับวัดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อเป็นสิริมงคลสร้างขวัญกำลังใจ ให้กับพุทธศาสนิกชนในพื้นที่  ทั้งนี้ กิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมความรักความสามัคคีและร่วมอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม  ของ ทุกศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมให้การสนับสนุนในทุกโอกาส สำหรับการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้นำการรักษาความมั่นคงในภาค 4 ได้กำชับและสั่งการให้กำลังพลทุกหน่วย ได้นำยุทโธปกรณ์ และเครื่องมือต่าง ๆ เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะทหารพร้อมอยู่เคียงข้างประชาชนในทุกวิกฤตและโอกาส

         ด้าน พันตำรวจเอก อนุพงษ์ ทัศนา หัวหน้างานกฎหมายและสอบสวน กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แถลงถึงสถิติการเกิดเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๖๗ เกิดเหตุขึ้นในพื้นที่ 28 เหตุ แยกเป็นเหตุ ก่อความรุนแรง 8 เหตุ เหตุอาชญากรรม 13 เหตุ และเหตุก่อกวน 7 เหตุ จากเหตุก่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีผู้เสียชีวิต 2 ราย แยกเป็น ทหาร 1 นาย ประชาชน 1 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 14 ราย แยกเป็น ตำรวจ 4 นาย ทหาร 1 นาย และประชาชน 9 ราย ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับ ป.วิอาญา กับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุก่อความรุนแรงที่เกิดเหตุในพื้นที่ จำนวน 3 หมาย จับกุม 3 หมาย รวมจำหน่ายรวมหมายค้างเก่า 8 หมาย  และออกหมายจับตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จำนวน 1 หมาย จับกุม 1 หมาย รวมจำหน่ายหมาย 1 หมาย มีผลคำพิพากษาคดีความมั่นคง ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีการวมกัน 8 คดี จำเลย 11 ราย จำคุกตลอดชีวิต 2 ราย ลงโทษจำคุกไม่เกิน 50 ปี 9 ราย

          ด้านคดีความมั่นคงมีความคืบหน้า หลายคดี ประกอบด้วย เหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 446 เหตุเกิดบริเวณสะพานตันหยง ถนนสาย 42 หมู่ 2 ตำบลมะนังยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 / และเหตุชิงทรัพย์เป็นเงินของร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาปาลัส บริเวณหน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาปาลัส หมู่ 5 ตำบลลางา อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจน ว่าเหตุชิงทรัพย์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุอาชญากรรมทั่วไป หรือเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อรุนแรงในพื้นที่ และจะได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับและติดตามจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีต่อไป ด้านความคืบหน้าคำพิพากษาคดีความมั่นคงมีหลายคดี ดังนี้

  1. เหตุลอบวางระเบิดใต้ท้องรถยนต์ เหตุเกิด บ้านเลขที่ 1/1 หมู่ 3 ตำบลถนน อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2566 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาให้ลงโทษ จำคุก 35 ปี 12 เดือน 1 ราย
  2. เหตุลอบวางเพลิงโรงโม่หินธนบดีศิลา เหตุเกิด หมู่ 4 ตำบลลิดล อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 ศาลจังหวัดยะลา มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 8 ปี 24 เดือน 1 ราย 3.เหตุลอบวางระเบิดร้านทอง โจมตีจุดตรวจ ฐานปฏิบัติการ และลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้ารวม 7 จุด ในพื้นที่อำเภอตากใบ และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดนราธิวาส พิพากษาลงโทษจำคุก 33 ปี 4 เดือน 1 ราย 4.เหตุเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรงตามหมายจับ บริเวณบ้านเลขที่ 31/2 หมู่ 7 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562 ศาลฎีกา มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี 20 เดือน 1 ราย และจำคุก 4 ปี 8 เดือน 1 ราย 5. เหตุลอบวางระเบิดแสวงเครื่องแบบเหยียบ เหตุเกิด ทางรถไฟใกล้สะพานเหล็ก บ้านน้ำเค็ม หมู่ 8 ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 3 -4 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลจังหวัดนาทวี พิพากษาลงโทษจำคุก 43 ปี 4 เดือน 1 ราย 6.เหตุยิงเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนชุดคุ้มครองตำบลพร่อนเสียชีวิต 2 นาย เหตุเกิด หมู่ 5 ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาส พิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต 2 ราย

         นายธีรวิทย์ เฑียรฆโรจน์  รองโฆษก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แถลงถึงการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเจตนารมณ์การเยียวยาให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ได้รับสิทธิการช่วยเหลือเยียวยาครบถ้วนอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว ทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม บนพื้นฐานของศักยภาพ และต้นทุนทางสังคมของบุคคล ครอบครัวและพื้นที่ เพื่อให้สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อสร้างเครือข่ายให้กับผู้ได้รับผลกระทบฯ ให้สามารถดูแลช่วยเหลือกันและกัน ในระยะต่อเนื่อง รวมถึงร่วมมือกับภาครัฐ องค์กรภาคประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการติดตามให้ความช่วยเหลือดูแล นอกจากนี้ยังได้พัฒนาและเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลของผู้ได้รับผลกระทบฯ ให้มีความทันสมัยและเป็นปัจจุบัน และประชาสัมพันธ์ข้อมูล ข่าวสารในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและร่วมการขับเคลื่อนงานช่วยเหลือเยียวยาให้มีผลเชิงสร้างสรรค์ต่อกระบวนการสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

         ด้านการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับจังหวัดและอำเภอพื้นที่เกิดเหตุ ได้ให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 – ปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นการให้ความช่วยเหลือในเรื่องของสภาวะจิตใจและคุณภาพชีวิต ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการดำเนินการเยี่ยมติดตามทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือเยียวยาจังหวัดและอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเยี่ยมติดตามให้กำลังใจ รวมถึงการประเมินสภาพความเป็นอยู่ของผู้ได้รับผลกระทบฯ ภายหลังประสบเหตุ เพื่อนำมาประเมินการให้ความช่วยเหลือตามความเร่งด่วน  หากพี่น้องประชาชนต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆสามารถติดต่อสายด่วนอุ่นใจ 1880 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 24 ชั่วโมง

        ซึ่งทั้งหมดนี้คือ ความร่วมมือและการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ร่วมกันขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อสร้างพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดความปลอดภัย และเกิดความสันติสุขอย่างยั่งยืนต่อไป

แม่ทัพภาคที่4 แม่ทัพไพศาล

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า