วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2567) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลตรี วรเดช เดชรักษา รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ติดตามการดำเนินงาน พร้อมรับฟังปัญหา ข้อขัดข้อง โดยมีวิทยากรญาลันนันบารู กำลังพลร่วมประชุมฯ โดย พลตรี ปกรณ์ จันทรโชตะ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงมีการค้าและการแพร่ระบาด โดยเฉพาะยาบ้า การค้าและแพร่ระบาดอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ เฮโรอีน, ไอซ์ พบแพร่ระบาดในทุกจังหวัด ตลอดห้วงปี 2567 ที่ผ่านมา มีสถิติลดลง คือสามารถจับกุมและดำเนินคดี 7,983 คดี เมื่อเทียบกับปี 2566 มีการจับกุมที่ 9,555 คดี พบในจังหวัดปัตตานีมีการจับกุมมากที่สุด รองลงมาคือ จังหวัดยะลา , นราธิวาส และ สงขลา ตามลำดับ พร้อมย้ำว่า การดำเนินงานในมิติการป้องกันยาเสพติด เน้นกำลังภาคประชาชนเป็นสำคัญ ในชื่อ “มวลชนญาลันนันบารู“ คือ กลุ่มเยาวชนจูเนียร์, กลุ่มเยาวชน และ กลุ่มมวลชนทั่วไป โดยขับเคลื่อนงานเครือข่ายมวลชนญาลันนันบารู มีชุดประสานงานประจำจังหวัด เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนงานลงไปสู่เครือข่ายมวลชนญาลันนันบารูในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ระดับอำเภอและตำบล ได้มีการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ อาทิเช่น ชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือนของหน่วยเฉพาะกิจหมายเลข, ศูนย์ปฏิบัติการร่วมอำเภอ, ภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการมีส่วนร่วมในเวทีสภาสันติสุขตำบล
โอกาสนี้ พลตรี วรเดช เดชรักษา รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวชื่นชมเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติภารกิจด้วยดีเสมอมา ย้ำว่าให้นำข้อผิดพลาดเป็นบทเรียนแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น ทั้งปราบปรามด้วยมาตรการงานด้านการข่าว การสกัดกั้น การปราบปราม การป้องกัน การบำบัดรักษา ควบคู่กับการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับประชาชน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แนบแน่นยิ่งขึ้น ตามนโยบายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ตามแผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปี 2568 ให้มีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติ ทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน เน้นการบำบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Based Trand Rexabilitation : CBTx) เป็นการดูแลผู้ใช้ยาเสพติดให้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูใกล้บ้าน หรือภายในชุมชนอย่างต่อเนื่องตามกระบวนการ ตั้งแต่การค้นหา คัดกรอง บำบัดฟื้นฟู การติดตามดูแลช่วยเหลือทางสังคม และการส่งเสริมการมีอาชีพเพื่อส่งคืนคนดีกลับสู่สังคม เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ได้ อย่างยั่งยืน
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า